เอ็นไอเอเชิญชวนสตาร์ตอัปยื่นรับรองสิทธิ์ 'ยกเว้นภาษี'

เอ็นไอเอเชิญชวนสตาร์ตอัปยื่นรับรองสิทธิ์ 'ยกเว้นภาษี'

เอ็นไอเอเปิดช่องทางขอรับรองสตาร์ตอัป เพื่อใช้สิทธิ์ยกเว้น Capital Gain Tax หรือมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดคนมีทักษะสูงจากต่างประเทศ ให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศมากขึ้น

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกระตุ้นการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมในไทย โดยล่าสุดได้เปิดช่องทางเพื่อรับรองธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ตอัปเป้าหมาย ที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการขายหุ้นของสตาร์ทอัพ ให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

โดยสามารถส่งข้อมูลเพื่อขอรับการการพิจารณารับรองผ่านช่องทาง https://www.nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax เริ่มตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีสตาร์ตอัปยื่นขอการรับรองจาก NIA ไม่ต่ำกว่า 20-30 ราย โดยเฉพาะสตาร์ทในกลุ่มนวัตกรรมและดีพเทค

เอ็นไอเอเชิญชวนสตาร์ตอัปยื่นรับรองสิทธิ์ \'ยกเว้นภาษี\'

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจอยากเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจ

เนื่องด้วยเป็นประเทศที่มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ไม่สูงนัก มีค่าครองชีพระดับปานกลาง พร้อมด้วยนโยบายเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจหลายโครงการ

โดยเฉพาะการออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้นที่ได้ลงทุนในสตาร์ตอัปไทย (Capital Gains Tax) ให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นโยบายนี้นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดคนมีทักษะสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศมากขึ้น

เอ็นไอเอเชิญชวนสตาร์ตอัปยื่นรับรองสิทธิ์ \'ยกเว้นภาษี\'

มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้สตาร์ตอัปไทย – ต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องผ่านการรับรองจาก NIA สวทช. หรือดีป้า

เกิดการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้นและง่ายขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดว่ามาตรการภาษีนี้จะทำให้มีเงินลงทุนในสตาร์ตอัปไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทภายในปี 2568 รวมทั้งเกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 5 แสนอัตรา

NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สามารถให้การรับรองสตาร์ทอัพ ที่ต้องการขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องลงทุนในธุรกิจที่ประกอบด้วยเทคโนโลยี ในรูปแบบของการประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการในธุรกิจหลักและทำให้เกิดรายได้ 80% ต้องมีการถือครองหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน

ครอบคลุมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ

โดยมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575 สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับนั้น หากเป็นการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพไทย จะยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการโอนขายหุ้น (Capital Gains Tax) ให้กับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

ถ้าเป็นการลงทุนผ่านบริษัทซึ่งประกอบการเงินร่วมลงทุน CVC หรือถือหน่วยทรัสต์ในทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน PE Trust ไทย จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน

ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีสตาร์ทอัพยื่นขอส่งเสริมกับ NIA ไม่ต่ำกว่า 20-30 ราย ทั้งสตาร์ทอัพในกลุ่มนวัตกรรมและดีพเทค เช่น AI หุ่นยนต์ เทคโนโลยีเสมือนจริง ตลอดจนกลุ่ม ARITECH กลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ NIA ผลักดันให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี 

NIA คาดการณ์ว่ากลุ่มสตาร์ตอัปในด้านเทคโนโลยีเชิงลึก น่าจะเป็นกลุ่มที่ขอรับรองเพื่อใช้สิทธิ์การยกเว้น Capital Gain Tax เข้ามามากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและมีโอกาสเติบโตสูง แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีดีพเทคเกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็มีช่องว่างและโอกาสเอื้อให้บริษัทและนักลงทุนเข้ามาดำเนินธุรกิจได้

นอกจาก Capital Gain Tax แล้ว NIA ยังมีโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างแรงจูงใจ ดึงดูดคนที่มีทักษะสูง และนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

เช่น โครงการ SMART Visa หรือ วีซ่าประเภทพิเศษ ที่ NIA ทำงานร่วมกับ BOI เพื่อช่วยให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

การจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ตอัประดับโลก (Global Startup Hub) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างชาติ แบบ One Stop Service รวมถึงการดำเนินการทางการทูตนวัตกรรมที่เป็นเสมือนการสร้างพันธมิตรทางเทคโนโลยีกับนานาชาติ

สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลในแบบคำขอพร้อมแนบเอกสารไปที่อีเมล์ [email protected] ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 ของทุกเดือน โดยสำนักงานจะดำเนินการประกาศผลการรับรองภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax หรือ เบอร์ 02 017 5555 ต่อ 303, 563 – 564