สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi ปูทางไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi ปูทางไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

ชวนพูดคุยกับนักวิจัย ปาษาณ กุลวานิช ถึงการเติบโตของยานยนต์ไร้คนขับ อัปเดตความคืบหน้าของสนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi จ.ระยอง ด้าน วศ. เร่งขับเคลื่อนไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

Key Points:

  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยถึง 200,000 ล้านบาทภายในปี 2573 
  • สนามทดสอบรถอัตโนมัติ ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง ได้รับการทดสอบมาตรฐานของสนามจากบริษัท IDIADA

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับพันธมิตรและบริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการทดสอบและรับรองคุณภาพเพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านสมรรถนะและความปลอดภัยในการใช้งาน 

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จึงทำโครงการ สร้าง “สนามทดสอบรถอัตโนมัติ” หรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาและผลิตยานยนต์อัตโนมัติในประเทศให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568) คาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 200,000 ล้านบาทภายในพ.ศ. 2573 

สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi ปูทางไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

สนามทดสอบรถอัตโนมัติ

ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กล่าวว่า สนามทดสอบรถอัตโนมัติ เซ็นสัญญาเช่าที่ดินของจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ (CAV)

แปลนของสนามถูกจำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย มีสัญญาณจราจร ป้ายจราจร อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้ 

มาตรฐานของสนามได้รับการทดสอบจากบริษัท IDIADA ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานมากกว่า 25 ปี โดยให้บริการด้านวิศวกรรม การออกแบบ การทดสอบ และการขอใบรับรองเกี่ยวกับยานยนต์แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

การทดสอบประกอบไปด้วย 1.การทดสอบแรงเสียดทานของพื้นผิวสนามทุกจุดให้มีขนาดเท่ากัน ซึ่งมีขนาดไม่น้อยกว่า 0.9 ตามประสิทธิแรงเสียดทาน 2.ทดสอบความเรียบของสนาม ตามระบบมาตรวิทยา 3.ทดสอบระดับความเอียงของพื้นผิวโดยใช้เทคโนโลยีจากกล้องวัดระดับ 

“โรดแม็ปการสร้างสนามแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเราปรับพื้นที่ และสร้างสนามส่วนถนนเสร็จสิ้น ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มสร้างตึกสำหรับห้องปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และสร้างอุโมงค์เพื่อจำลองพื้นที่อับสัญญาน โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จทุกอย่างในปี 2568” ดร.ปาษาณ กล่าว

สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi ปูทางไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

รูปแบบการให้บริการ

การให้บริการสนามทดสอบยานยนต์อัตโนมัติจะประกอบไปด้วย

1.ทดสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ เช่น การรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ยุคใหม่ เบรกอัตโนมัติ ระบบขับอัตโนมัติระยะเวลาสั้นๆ ทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมไปถึงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz ทดสอบการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ 

2.ทดสอบระบบยานยนต์อัตโนมัติใช้ในพื้นที่ปิด เช่น รถไร้คนขับขนส่งสินค้าภายในโรงงาน หรือรถบัสที่ใช้ในแคมปัสต่างๆ เป็นต้น 

นอกจากนี้ วศ. พัฒนาและสร้างสนามทดสอบร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 

โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผู้ให้ทุน 

“ขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจทั้งไทยและต่างประเทศไทยหลายราย เช่น ปตท. เขาจะเป็นผู้ส่งรถเข้ามาให้ทดสอบใช้งานเสมอๆ และยังมีบริษัท ซีพี ออลล์ ที่คอยสอบถามความคืบหน้า และยังมีบริษัทเอกชนจากจีนที่ต้องการส่งรถบัสอัตโนมัติเข้ามาทดสอบวิ่งในสนามของเรา นอกจากนี้ก็มีทางมหาวิทยาลัยและสตาร์ตอัปหลายรายสนใจสนามอีกด้วย” 

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

ดร.ปาษาณ กล่าวถึงความเป็นไปได้ของยานยนต์อัตโนมัติในบริบทโลกไว้ว่า เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ตลาดยานยนต์อัตโนมัติหรือยานยนต์ไร้คนขับถูกมองว่าเป็นตลาดดาวรุ่ง มีหลายบริษัทร่วมกันลงแข่งขัน ทุ่มเททรัพยากรทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อวิจัยระบบอัตโนมัติดังกล่าว 

หากแต่ในปัจจุบันยานยนต์ไร้คนขับยังไม่สามารถออกมาใช้งานได้เทียบเท่ารถที่วิ่งบนถนน ทำให้เกิดการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ส่งผลให้นักลงทุนถอนตัว สตาร์ตอัปหลายพันบริษัททยอยเลิกกิจการจนเหลือเพียงไม่ที่เจ้าที่ยังคงวิจัยและพัฒนาต่อ 
    
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทำไมประเทศไทยถึงยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สนามทดสอบรถอัตโนมัติ” และผลักดัน “อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” อยู่? ดร.ปาษาณ อธิบายว่า ยานยนต์ไร้คนขับอาจจะไม่สำเร็จภายใน 2-5 ปีนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่สำเร็จ เมื่อสำเร็จแล้วจะเกิดประโยชน์หลายอย่างที่ตามมา 

ได้แก่ 1.ทำให้อุบัติเหตุบนถนนเป็นศูนย์ 2.ทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งที่เป็น Smart City มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.ลดข้อจำกัดทางร่างกายช่วยผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเดินทางง่ายขึ้น ตลอดจนการดึงนักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย 

“ยานยนต์ไร้คนขับถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมกับการใช้งานในโรงงาน คลังสินค้า สนามบิน แคมปัส ท่าเรือ ซึ่งการที่ไทยยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันสามารถใช้บนท้องถนน ไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งไม่ต้องรอรับเทคโนโลยีเขาอย่างเดียว และสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาสร้างมูลค่าภายในประเทศได้ เพราะมีนวัตกรรมที่พร้อมใช้แล้ว” 

ดร.ปาษาณ ได้ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ที่มีสนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ อย่าง Centre of Excellence for Testing & Research of AVs – NTU (CETRAN) มีขนาดของสนาม 11 ไร่ แต่ได้รับการจัดอันดับสองของโลกว่าเป็นประเทศที่พร้อมในการใช้รถยนต์ไร้คนขับมากที่สุด ในรายงาน Autonomous Vehicles Readiness Index (AVRI) โดยอันดับหนึ่งเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi ไม่ใช่ที่แรกในประเทศไทย แต่ยังมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้สร้างและพัฒนาบนพื้นที่ 1,235 ไร่

ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.กระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะเปิดให้บริการปี 2569 เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย 

“ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่สนามทดสอบรถอัตโนมัติที่ EECi อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งสองมีสนามที่สามารถใช้ทดสอบยานยนต์ได้เหมือนกัน

ซึ่งสนาม ATTRIC ใช้ทดสอบยานยนต์ทั่วไป แบบ Conventional Automotive หากแต่สนาม CAV ใช้ทดสอบยานยนต์เพื่อพัฒนาไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ แต่ทั้งสองสนามเป็นพาร์ทเนอร์ที่สามารถทำงานร่วมกันได้” ดร.ปาษาณ ชี้จุดสรุป