ผู้นำยุค AI จะต้องทำอะไรบ้าง? | พสุ เดชะรินทร์

ผู้นำยุค AI จะต้องทำอะไรบ้าง? | พสุ เดชะรินทร์

AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่องค์กรธุรกิจกำลังพิจารณา หรือได้เริ่มนำมาปรับใช้กันมากขึ้น และมองว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้รูปแบบและวิธีการทำงานแบบเดิมต้องเปลี่ยนไป

คำถามที่ต่อเนื่องคือ เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้น ผู้นำ (ไม่ว่าจะในระดับใด) จะต้องมีทักษะ ทัศนคติ หรือวิธีการในการบริหารที่เปลี่ยนไปหรือไม่? หรือพูดง่ายๆ คือเมื่อองค์กรใช้ AI มากขึ้น ผู้นำจะต้องทำอะไรบ้าง?

เริ่มแรกเลยคือ ผู้นำจะต้องตระหนัก เปิดใจ และยอมรับว่า เมื่อ AI เข้ามาแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวผู้นำเอง ดังนั้น ผู้นำจะต้อง

1. เรียนรู้และทำความเข้าใจในพื้นฐานของ AI และ Machine Learning เพื่อให้อย่างน้อยได้รับทราบถึงประโยชน์รวมถึงข้อจำกัดของ AI และสามารถที่จะกำหนดแนวทางได้ว่าจะนำ AI มาใช้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรอย่างไร

2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลขององค์กร หรือมี Data Literacy เนื่องจากการนำ AI มาใช้ให้ได้ผลนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น ผู้นำเองจะต้องเห็นภาพเกี่ยวกับข้อมูลขององค์กร ทั้งการได้มา ลักษณะของข้อมูล และการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

3. ผู้นำจะต้องสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ เนื่องจากการนำ AI มาใช้ไม่สามารถขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่จะต้องเป็นทีมที่มาจากหลายฝ่ายหลายแผนกหลายความเชี่ยวชาญ

4. ให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมากขึ้น เพราะถึงแม้ AI จะสามารถทำงานประจำหลายอย่างได้เร็วกว่าและครอบคลุมกว่าคน แต่คนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรอยู่ ดังนั้น ผู้นำจะต้องไม่สนใจแต่เทคโนโลยีอย่างเดียวจนลืมเรื่องของคน โดยเฉพาะบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการนำ AI มาใช้

จะเห็นได้ว่า ทักษะและทัศนคติสำคัญที่ผู้นำจะต้องมีในยุค AI จะไม่แตกต่างจากทักษะที่ผู้นำจะต้องมีในยุคของการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะต้องมีความเข้าใจและเปิดรับต่อเทคโนโลยีใหม่ให้ได้มากขึ้น ทั้งในเชิงประโยชน์และข้อจำกัด รวมทั้งต้องมีทัศนคติของการเปิดรับและพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

นอกจากตัวผู้นำที่จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการนำ AI มาใช้แล้ว ผู้นำก็ยังต้องเตรียมพร้อมองค์กรให้พร้อมต่อการนำ AI มาใช้ โดยจะต้องเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ประกอบด้วย

1. การทำให้องค์กรเปิดกว้างและยอมรับต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ และสามารถที่จะอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ได้ ผู้นำและตัวองค์กรจะต้องไม่ต่อต้านต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่เลือกที่จะเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด จะต้องสร้างแนวคิดว่าการเข้ามาของ AI เป็นโอกาส ไม่ใช้ภัยคุกคาม

2. สร้างวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการปรับตัว เนื่องจาก AI จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมีวัฒนธรรมในการทำงานที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น บุคลากรในองค์กรจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น

3. เมื่อ AI เข้ามา AI จะสามารถช่วยในการทำงานที่เป็นประจำ และงานที่อาศัยข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ผู้นำและบุคลากร สามารถใช้เวลาในการมุ่งเน้นงานในเชิงกลยุทธ์ และงานที่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่ซับซ้อนมากขึ้น

4. สร้างบรรยากาศและระบบเพื่อให้การนำ AI มีกรอบในเรื่องของจริยธรรมกำกับอยู่ อาจจะต้องมีโครงสร้าง หรือ กรอบหรือแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ AI ในองค์กร เนื่องจากยังมีข้อกังวลที่เกี่ยวกับจริยธรรมในการใช้ AI อยู่

สิ่งที่ผู้นำต้องตระหนักเสมอคือ AI อาจจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถในการตัดสินใจภายในองค์กรได้ แต่ AI ไม่ได้ทำให้ผู้นำเป็นผู้นำที่ดีขึ้น

การจะเป็นผู้นำที่ดีในยุค AI นั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้นำเอง ที่จะรู้จักที่จะเรียนรู้ ปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก AI ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร ภายใต้ข้อจำกัดของ AI ที่มีอยู่