‘GitaGPT’ แชตบอตอัจฉริยะ คุยกับพระกฤษณะผ่าน AI

‘GitaGPT’ แชตบอตอัจฉริยะ คุยกับพระกฤษณะผ่าน AI

วิศวกรซอฟต์แวร์ในอินเดียพัฒนา ‘GitaGPT’ แชตบอต AI เชิงศาสนา ที่มีพื้นฐานข้อมูลจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู

Key Points:

  • กระแสของ ChatGPT ทำให้วิศวกรซอฟต์แวร์ในอินเดียพัฒนาแชตบอต AI เชิงศาสนา ที่มีพื้นฐานข้อมูลจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ขณะนี้มีผู้คนเข้าไปใช้งานเป็นจำนวนมาก
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อพิจารณาแชตบอตที่มีคำตอบเกี่ยวข้องกับศาสนา เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นดาบสองคม และอันตรายมากหากนำไปใช้ในทางที่ผิด

จากความนิยมของแชตบอตตอบคำถามอัจฉริยะอย่าง ChatGPT ทำให้ Sukuru Sai Vineet วิศวกรซอฟต์แวร์จากเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย พัฒนา “GitaGPT” แชตบอตเชิงศาสนาที่มีฟังก์ชันคล้ายกันขึ้นมา ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT-3  

‘GitaGPT’ แชตบอตอัจฉริยะ คุยกับพระกฤษณะผ่าน AI

GitaGPT มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับศาสนา อิงตามคัมภีร์ภควัทคีตา หรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ซึ่งประกอบด้วยบทกวีหรือโศลกทั้งหมด 700 บท พร้อมกันนี้ยังมีความสามารถเลียนแบบสำเนียงพระกฤษณะ เน้นปรึกษาหรือสนทนาธรรม

โดยในช่องค้นหา มีข้อความเขียนกำกับว่า [“ลูกเอ๋ย เจ้ามีปัญหาอะไร - What troubles you, my child?”] สำหรับการใช้งาน ผู้เข้าใช้จำเป็นต้องกรอกเบอร์โทรและรอรหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน

นอกจากนี้ ตัวแชตบอตดังกล่าวยังเขียนกำกับถึงผู้เข้าใช้งานด้วยว่า [“คุณไม่ได้คุยกับพระกฤษณะจริงๆ แต่กำลังคุยกับเอไอหรือบอตที่เลียนแบบเป็นพระกฤษณะ”]

Jaspreet Bindra นักวิจัยด้านเอไอและผู้เขียน The Tech Whisperer กล่าวว่า GitaGPT เป็นหนึ่งแชตบอตทางศาสนาของอินเดีย ที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตำราหรือคำสอนทางศาสนาได้ง่ายขึ้น ผ่านการพูดคุยกับเอไอ

แต่อย่างไรก็ตาม แชตบอตเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหากนำไปใช้งานในทางที่ผิด อาจสร้างอันตรายหรือผลกระทบแง่ลบตามมาก นอกจากนี้ ตัวแชตบอตมีฐานข้อมูลที่ขาดตัวกรองสำหรับวรรณะ และมีความเกลียดชังเกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ ตลอดจนกฎหมายบ้านเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกต้องหรือครอบคลุมทั้งหมด เพราะเอไออาศัยการจดจำข้อมูล แต่ขาดการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง  

ทั้งนี้ GitaGPT ถูกค้นพบว่ามีการพูดถึงเรื่องการเมืองในประเทศอินเดีย โดยมีความคิดเห็นที่รุนแรงเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย แต่ด้าน Vineet ชี้แจงว่า สิ่งดังกล่าวเป็นปัญหาปัจเจกระดับบุคคล เพราะอย่างไรแล้วเครื่องมือไม่ได้ผิด แต่อยู่ที่คนที่ใช้เครื่องมือต่างหาก

สำหรับผู้ที่สนใจพูดคุยกับแชตบอต สามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://askgita.faith/

อ้างอิงข้อมูล: restofworld