นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

สมัยที่ผมเรียน MBA ที่ มธ. (กว่า 30 ปีแล้ว) มีหนังสือทางการตลาดเล่มหนึ่งดังมากๆ ชื่อ “Positioning” แต่งโดย Al Ries กับ Jack Trout เกี่ยวกับ “กลยุทธ์การสร้างภาพพจน์” (ของสินค้าและองค์กร)

หลายปีต่อมาผู้แต่งก็เขียนหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ “Differentiate or Die” เกี่ยวกับ “กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง เพื่อความอยู่รอด” ที่ฮือฮาไม่น้อยกว่าเล่มแรก ผมเชื่อว่า “การสร้างความแตกต่าง” เล่มที่ว่านี้ ก็คือ ที่มาของความสำคัญในเรื่องของ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “นวัตกรรม” ที่เป็น “กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด” ของทุกองค์กรในปัจจุบัน

ท่านผู้รู้หลายท่านบอกว่า “นวัตกรรม” กับ “ความคิดสร้างสรรค์” มีความหมายต่างกัน เพราะ “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน  แต่การสร้างนวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดของใครเพียงคนเดียว แต่มาจากการระดมความคิดของหลายคนร่วมกัน  

ซึ่งหัวหน้าหรือผู้บริหารมักจะกล่าวอ้างว่า เหตุที่บริษัทไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ปัญหาอยู่ที่บริษัทขาดผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่ปัญหาเรื่องนวัตกรรมนี้เกิดจากวิธีบริหารและจัดการกับความคิด หรือไอเดียต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่า

ฟิลลิป คอตเลอร์ (Phillip Kotler) ปรมาจารย์ด้านการตลาด ได้กล่าวว่า “นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนเพียงคนเดียว และนวัตกรรมก็ไม่ใช่การเดินตามรอยเท้าผู้อื่น แต่มันคือการสร้างความแตกต่างให้กับโลกและผู้คนบนโลกใบนี้”

เมื่อพูดถึงนวัตกรรม เรามักนึกถึง “ของใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อน” หรือ นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดหรือพลิกโฉมไปเลย ดังเช่น กรณีบริษัท Apple ที่สร้างโทรศัพท์มือถือ (ไอโฟน) หรือบริษัท Google ที่พัฒนาการสื่อสารทาง Internet เป็นต้น

สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้  มักจะทำให้ทั้งสื่อและผู้คนต่างกล่าวถึงด้วยความชื่นชม จนทำให้เราเข้าใจว่า การสร้างนวัตกรรมหมายถึงการผลิตสินค้าหรือเสนอบริการใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนทั้งโลก และพลิกโฉมการตลาดไปอย่างสิ้นเชิง

 แต่แท้จริงแล้ว นวัตกรรมอาจไม่ได้ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดเสมอไป  ความก้าวหน้าแบบพัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปก็ถือเป็นนวัตกรรมได้เหมือนกัน เพราะบ่อยครั้งสำคัญยิ่งกว่านวัตกรรรมแบบก้าวกระโดดเสียอีก  เนื่องจากทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเรียนรู้และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอนี้ มักจะเป็นการปรับปรุงแก้ไขปัญหาหรือสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นๆ เรื่อยๆ  ซึ่งญี่ปุ่นเรียกกันว่า “Kaizen” และเมื่อพัฒนาถึงจุดๆ หนึ่ง ก็จะได้สิ่งที่พลิกโฉมเกิดขึ้น คือ มีความแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ จุดที่เกิดการก้าวกระโดดแบบพลิกโฉมที่ต่างจากเดิมเลยนี้ ก็คือ นวัตกรรม (Innovation) นั่นเอง

การปรับปรุงหรือพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้น  จึงมักจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนา “วัฒนธรรมการทำงาน” ในองค์กรด้วย  ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมและผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จากก้าวเล็กๆ จนถึงวิ่งได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ พัฒนาการด้านยานยนต์ นับแต่เริ่มมีรถยนต์ขึ้นในโลก วิศวกรที่คิดประดิษฐ์รถยนต์ต่างก็คิดค้นสิ่งที่เป็นนวัตกรรมทั้งหลายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นที่ส่วนประกอบแต่ละชิ้นซึ่งค่อยๆ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรวม

เช่น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ประสิทธิภาพแรงม้าเพิ่มขึ้น วิ่งเร็วขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง ที่ทำให้รถยนต์ในวันนี้แตกต่างจากรถยนต์เมื่อเกือบ 100 ปี ที่แล้วอย่างมาก จนสามารถพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า เรามาถึงจุดนี้ได้ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงการเดินไปข้างหน้าทีละก้าว ไม่ใช่การกระโดดพรวดในคราวเดียว

กรณีของ SONY และ SAMSUNG ก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่ SONY ครองตลาดและมัดใจผู้บริโภคมานานหลายศตวรรษแล้ว  แต่ต้องยอมยกแชมป์ให้ SAMSUNG  เพราะนวัตกรรมของสมาร์ททีวีที่โดนใจลูกค้ามากกว่า รวมทั้งการพัฒนาสมาร์ทโฟนจนสามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาได้แบบไม่น่าเชื่อ

ทุกวันนี้ อุปสรรคของการสร้างนวัตกรรม  จึงอยู่ที่ความสามารถในการออกแบบสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง  ซึ่งบ่อยครั้งต้องอาศัย “การวิจัยและพัฒนา” ด้วย

แต่เรื่องที่ยาก ก็คือ นวัตกรรมในงานบริการ (Service Innovation) โดยเฉพาะการบริหารของภาครัฐ ดังมีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดในร้านกาแฟ Starbucks ที่ให้บริการนั่งทำงานได้ด้วยและการขอ Passport ไปต่างประเทศของบ้านเราที่แล้วเสร็จเร็วมาก

ปัจจุบัน เรื่องของนวัตกรรมด้านต่างๆ จึงเห็นได้ทั่วไปรอบตัวเรา โดยเฉพาะสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น (เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้า) ด้วยการเพิ่มเติมหรือต่อยอดจากของเก่า (ของเดิม) แบบปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (Continuous Improvement) จึงมีให้เห็นมากกว่านวัตกรรมแบบพลิกโฉม จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

นวัตกรรม จึงสามารถตอบโจทย์ “ Differentiate or Die ? ” ของทุกองค์กรได้ด้วย  ครับผม!