Venture Builder โมเดล เร่งปั้น เร่งโต | ต้องหทัย กุวานนท์

Venture Builder โมเดล เร่งปั้น เร่งโต | ต้องหทัย กุวานนท์

โมเดลการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการตั้งหน่วยงานที่เป็นเสมือนโรงงานปั้นสตาร์ตอัปรายใหม่ๆ กำลังเป็นโมเดลที่เข้ามาแทนที่โครงการบ่มเพาะหรือเร่งสร้างอย่างที่ในวงการรู้จักกันดีในรูปแบบของ Incubator หรือ Accelerator

การเติบโตของโมเดล Venture Building ที่เป็นการปั้นธุรกิจใหม่ผ่านกลไกขององค์กรใหญ่ การลงทุนของภาครัฐ หรือการที่ VC ผันตัวไปเป็น Venture Builder เสียเอง กำลังมีแนวโน้มขยายตัวไปทั่วโลก

ข้อมูลล่าสุดจาก Tech in Asia ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวน Venture Studio ทั่วโลกถึง 724 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ปีที่ผ่านมา ในยุคแรก การปั้นสตาร์ตอัปในรูปแบบสตูดิโอถือว่าหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้เกิดสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ 

 

Venture Builder โมเดล เร่งปั้น เร่งโต | ต้องหทัย กุวานนท์

ซึ่งผู้บุกเบิกในยุคแรกๆ คือ IdeaLab ในยุค 90s และ Rocket Internet ในยุค 2000s และมีบริษัทชื่อดังหลายบริษัทเช่น GIPHY, Moderna, Lazada Zalora, Food Panda ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการปั้นของ Venture Studio

โมเดล Venture Building แตกต่างกับ Accelerator และ Incubator อย่างชัดเจนตรงที่ Venture Builder จะทำตัวเป็นผู้ “ปั้น” อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ไอเดียตั้งต้น การสร้างทีม การสนับสนุนทรัพยากรในทุกด้านไปจนถึงการถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอจนเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ก่อตั้ง 

และทำหน้าที่ผลักดัน ต่อยอดและช่วยสเกลอัปธุรกิจ จนเข้าสู่ระยะเติบโตหรือสามารถหาทาง Exit กับองค์กรขนาดใหญ่ได้ ในยุคนี้ที่มูลค่าธุรกิจ (Valuation) ของสตาร์ตอัปอยู่ในจุดถดถอยสวนทางกับยุคทองของยูนิคอร์นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว 

การกลับมาของโมเดล Venture Builder ทำให้เห็นภาพชัดว่าเม็ดเงินที่จะใช้ไปกับการ “ปั้น” สตาร์ตอัปใหม่ตั้งแต่ระยะไอเดียตั้งต้น จะมีโอกาสในการทำกำไรได้มากกว่าการลงทุนกับสตาร์ตอัปที่เติบโตแล้ว

Venture Builder โมเดล เร่งปั้น เร่งโต | ต้องหทัย กุวานนท์

ในฝั่งขององค์กรยักษ์ใหญ่เราเห็นโมเดล Venture Builder ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในฝั่งรัฐของบางประเทศ Venture Building กลายเป็นเครื่องจักรสร้างธุรกิจใหม่และดึงดูดการลงทุน เช่น หน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB)

ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของสิงคโปร์ที่สนับสนุนด้านการลงทุนก็ออกโครงการสนับสนุนให้องค์กรใหญ่ปั้นสตาร์ตอัปโดยมีเงินกองทุนสนับสนุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

และยังให้บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง McKinsey, Bain & Company และ BCG เข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงโดยที่ผ่านมามีสตาร์ตอัปที่ถูกปั้นแล้วโดยบริษัทขนาดใหญ่นับสิบบริษัท และบริษัทที่เข้าร่วมล้วนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม เช่น BOSCH, ING, Schneider Electric, ในฝั่ง VC รายใหญ่ 

อย่างเช่น Wavemaker ก็เดินหน้าปั้นสตาร์ตอัปด้าน Climate Tech โดยกำลังควานหาทีมงานที่จะเข้ามาเป็นทีมผู้ก่อตั้งจากหลายประเทศในอาเซียนเช่นอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ เวียดนาม

คนในวงการสตาร์ตอัปมองว่าโมเดล Venture Builder อาจประสบความสำเร็จได้ไม่ยากในระยะเริ่มต้น เพราะการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกาะไปกับเทรนด์เทคโนโลยีหรือแนวโน้มอุตสาหกรรม มีโอกาสเกิดได้อยู่แล้ว แต่การจะทำให้สตาร์ตอัปที่ถูก “ปั้น” เติบโตได้ในระยะยาวยังไม่ค่อยมีตัวอย่างให้เห็นมากนัก 

เหตุผลหลักที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญก็คือ การจะหาผู้ก่อตั้งหรือทีมผู้ก่อตั้งที่มีศักยภาพและมีแรงบันดาลใจมากพอที่จะสร้างธุรกิจให้เติบโตระดับพันล้านหรือหมื่นล้านหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในยุคนี้