ซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปริมาณต่ำ - ไม่น่าเป็นกังวล

ซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปริมาณต่ำ - ไม่น่าเป็นกังวล

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติรายงานความคืบหน้า (21 มี.ค. 65) พบซีเซียม-137 ในเตาหลอมสามจุด ผู้เชี่ยวชาญชี้ ระดับยังต่ำ ไม่น่าเป็นกังวล ด้านจุฬาฯ เผย ภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ รับตรวจสารกัมมันตรังสีซีเซียมปนเปื้อนโดยรอบ

ความคืบหน้าของการตรวจหาสารปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ในโรงงานหลอมโลหะ จังหวัดปราจีนบุรี (ณ วันที่ 21 มี.ค. 2566) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า พบสารซีเซียม-137 เพิ่มเติม 3 จุดในโรงหลอม

จุดแรกอยู่ที่เตาหลอม จุดสองปล่องดักฝุ่น และจุดสามที่กรองฝุ่นบริเวณเตาหลอม ซึ่งเป็นการพบที่เตาหลอม 1 เตา ส่วนอีก 2 เตา เจ้าหน้าที่ตรวจแล้วไม่พบสารปนเปื้อน

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 จากเตาหลอมนั้นยังอยู่ใน “ระดับต่ำ” (ระดับรังสี 0.07- 0.10 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปริมาณยังน้อย ไม่เป็นที่น่ากังวล

ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ กล่าวว่า จากการคำนวณค่าซีเซียมที่ปนเปื้อนยังมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่เป็นที่น่ากังวลว่าจะแพร่กระจายในวงกว้าง ยกเว้น “ได้รับ” หรือ “สัมผัสระยะใกล้” เช่น กอดไว้นานหลายชั่วโมง หรือสูดฝุ่นจากการหลอม ทำให้ผิวหนังอักเสบไหม้

ซึ่งโดยปกติ หากเรานั่งใกล้ๆ กัน เราจะได้รับปริมาณของรังสีอยู่แล้ว เนื่องจากจะมีรังสีปนอยู่ในธรรมชาติ เรียกว่า “รังสีพื้นหลัง” หากฝุ่นกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไปในสิ่งแวดล้อมจริงๆ ปริมาณของรังสีจะไม่มากไปกว่ารังสีพื้นหลังที่เราได้รับทุกวัน ดังนั้น จะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่อันตรายเลย 

“คนที่ต้องห่วงมากที่สุดคือ คนที่อยู่ใกล้แท่งซีเซียม สัมผัสโดยตรง อาจมีอาการผิวหนังไหม้ และเลนส์ตาขุ่นมัว เป็นต้อกระจกเฉียบพลัน” นายกสมาคมฯ กล่าว

นอกจากนี้ นายกสมาคมฯ ได้เสนอว่า ควรจำลองเส้นทางของแท่งซีเซียม-137 ว่าสารที่กระจายออกไปนั้นเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง และมีใครสัมผัสบ้าง แม้ผลการตรวจร่างกายกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้น จะไม่พบความผิดปกติ

จุฬาฯ รับตรวจสารกัมมันตรังสีซีเซียมปนเปื้อน

ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากสารกัมมันตรังสีกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็กๆ หรือฝุ่น ซึ่งอาจเกิดการฟุ้งกระจายออกไปนอกบริเวณเก็บได้หากมีการปกคลุมไว้ไม่ดีพอ ทำให้มีโอกาสที่มนุษย์จะสูดดมหรือบริโภคเข้าไปภายในร่างกายได้ 

อย่างไรก็ตาม ร่างกายมนุษย์มีกลไกที่สามารถกำจัดซีเซียมออกได้ หากไม่ได้สูดดมหรือบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก ก็จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ คนมีโอกาสได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่แพร่กระจายด้วย 2 วิธี

  • วิธีแรก คือ ฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม-137 อาจจะฟุ้งมาเกาะตามเสื้อผ้าหรือผิวหนัง จึงควรถอดเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกายทันทีด้วยน้ำเปล่า ก็สามารถกำจัดได้
  • วิธีที่สอง คือ สูดดมหรือกินอาหารที่ปนเปื้อน แต่สารซีเซียม-137 นี้มีคุณสมบัติคล้ายกับโปแตสเซียม แม้ว่าจะกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ แต่ก็ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายได้ค่อนข้างเร็วตามกลไกเดียวกันกับโปแตสเซียม หากมีการสะสมตัวอยู่ที่เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ จะสะสมอยู่ไม่นานประมาณ 10% สามารถกำจัดออกเร็ว โดยจะมีค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพเพียง 2 วัน และส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดออกด้วยค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพราว 110 วัน ซึ่งหมายความว่าซีเซียมที่ได้รับจะอยู่ในร่างกายไม่กี่เดือน และการกำจัดจะเกิดขึ้นเร็วกว่าในเด็ก 

หากพื้นที่มีความกังวลหรือคาดว่ามีโอกาสประสบ สามารถติดต่อภาควิชา โทร.0-2218-6781 เพื่อช่วยตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบได้

พร้อมกันนี้ มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ (22 มี.ค. 2566) เวลา 12.30 น. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทีมแพทย์ พยาบาล จาก มศว.องครักษ์ ม.บูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปโรงงานหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์