UPCYDE ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยน ‘เปลือกผลไม้’ เป็น ‘เครื่องหนัง’

UPCYDE ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยน ‘เปลือกผลไม้’ เป็น ‘เครื่องหนัง’

ชวนรู้จักกับ ‘ณัฐเวศ การุณงามพรรณ’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานผลิตรองเท้า สตาร์ตแบรนด์ ‘UPCYDE’ ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยนขยะทางการเกษตรให้เกิดใหม่เป็นวัสดุหนัง ส่งออกนานาประเทศทั่วโลก

อัพไซด์ (UPCYDE) สตาร์ตอัปที่เปลี่ยนขยะทางการเกษตร 25 ล้านตันให้เกิดใหม่ กลายเป็นวัสดุหนังเทียม ด้วยนวัตกรรม “ดึงเส้นใยจากพืช (Biotechnology)” ที่มีสินค้าวางบนเชลฟ์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และสิงคโปร์ 

พร้อมทั้งยังผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ดังอย่าง เบอร์เคนสต๊อก (Birkenstock) จากประเทศเยอรมนี ต่อยอดมาเป็นธุรกิจ OEM และ ODM (Original Design Manufacturer) โดยมีเป้าหมายพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีดีแค่การออกแบบ แต่ยังย่อยสลายได้ และต้องการลดปริมาณขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

UPCYDE ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยน ‘เปลือกผลไม้’ เป็น ‘เครื่องหนัง’

วัสดุหนังชีวภาพจากส่วนเกินการเกษตร

ณัฐเวศ การุณงามพรรณ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานรับจ้างผลิตรองเท้าใช้ความรู้ดั้งเดิมจากทางบ้าน ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุมาถึง 60 ปี ผันตนเองเป็นสตาร์ตอัปผลิตวัสดุหนังชีวภาพที่ทำจากวัตถุดิบทางการเกษตร ก่อตั้งเป็น บริษัท อัพไซด์ คาร์บอน นิวทรัล จำกัด 

ณัฐเวศ อธิบายว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องการช่วยธุจกิจของครอบครัวให้ดีขึ้นจึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์รองเท้าหนัง ใช้ชื่อว่า SHOESHOUSE แต่เกิดปัญหาตรงที่ผลิตเยอะ แต่ขายออกได้น้อย

และยังมีวัสดุจากยางสังเคราะห์โพลียูรีเทน (PU) ที่กลายเป็นส่วนเกินหลังกระบวนการผลิต แลพยังใช้เวลา 20 ปีถึงจะย่อยสลาย ทำให้เกิดเป็นขยะจำนวนมาก นอกจากนี้ โรงงานผลิตวัสดุในประเทศไทยเหลือน้อยมาก ผู้ผลิตส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ทำให้มีต้นทุนที่สูง 

จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดสตาร์ตอัปอย่างอัพไซด์ขึ้น โดยได้นำ “เปลือกผลไม้และส่วนเหลือทางการเกษตร” มาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี Biotechnology เป็น “หนังชีวภาพ” เพื่อรอขึ้นรูปเป็นสินค้า

อาทิ รองเท้า โซฟา ตลอดจนสินค้าที่ใช้หนังเป็นส่วนประกอบ อัพไซด์ เข้าไปรับซื้อขยะส่วนเกินจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายเปลือกผลไม้ และบริษัทก็ไม่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนน้อยลง

UPCYDE ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยน ‘เปลือกผลไม้’ เป็น ‘เครื่องหนัง’

รองเท้าจากเปลือกผลไม้

Brave Shoes เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์การผลิตรองเท้าจากเปลือกผลไม้ของอัพไซด์ โดยจะมีรูปทรงโค้งเว้า เปิดหัวรองเท้าตรงกลางให้เป็นรูปตัว O ซึ่งเป็นความตั้งใจของแบรนด์ที่ต้องการดีไซน์ให้แปลกตา 

สำหรับวัสดุจะนำเปลือกมะนาวมาผลิตเป็นรองเท้าสีเขียวรุ่น Otis Upcyde ซึ่งรองเท้า 1 คู่นี้ จะใช้เปลือกมะนาวกว่า 2 กิโลกรัม และยังมีรองเท้าสีขาวที่ทำมาจากเปลือกกล้วย 1.5 กิโลกรัม และเปลือกมะพร้าวอีกด้วย

“มะพร้าวเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ส่งออกเยอะมาก แต่ส่งออกแต่น้ำมะพร้าวแล้วทิ้งกากใยไว้ เช่นเดียวกับมะนาวและกล้วยที่ถูกแปรรูปแล้วทิ้งเปลือก ขยะผลไม้พวกนี้จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

ในส่วนของพื้นรองเท้าจะทำมาจากยางพารา นำไปผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นเส้นใยจากฝีมือของชาวบ้านหลายๆ ชุมชนที่ทางบริษัทได้จ้างงาน โดยนำเศษยางพารามาหลอมละลาย เพื่อขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้าใช้ความยืดหยุ่นและคงทน 

สำหรับส้นรองเท้า บริษัทได้นำส้นรองเท้าที่เป็นส่วนเหลือหรือส่วนผิดพลาดจากโรงงานผลิตรองเท้ามาออกแบบใหม่ให้เข้ากับรองเท้าของตนเอง ณัฐเวศ กล่าวว่า ความยากของการทำแบรนด์นอกจากจะมีเรื่องของวัสดุแล้ว ยังต้องใช้การอธิบายให้กับลูกค้าเข้าใจว่า รองเท้าที่ทำมาจากเปลือกผลไม้นั้นมันมีดีอย่างไร 

“คิดว่าต้องใช้เวลาในการพูดคุยกับลูกค้าบางกลุ่มให้มาเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ ให้เขาได้เรียนรู้ว่า Circular Business มันมีอย่างนี้ด้วย มีวัสดุที่เป็นทางเลือกอื่นที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม การทำให้คนเข้าใจยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะลูกค้าอาจไม่เคยรู้จักสิ่งนี้มาก่อน จึงต้องพัฒนาการตลาดกันต่อไป”

นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ที่ผลิตนวัตกรรมเกี่ยวกับเสื้อผ้า จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้แรงงานให้มากขึ้นกว่าเดิม 

ประเทศไทยนั้นมีทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และมีนวัตกรอย่างชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ที่มีฝีมือ จึงไม่อยากให้หลงลืมตรงนี้ไป เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคที่ปรับตัวมาซื้อเสื้อผ้ามือสอง เสื้อผ้าจากวัสถุทางเลือก อย่างกลุ่ม Gen Z ไปจนถึง Gez Y จะคำนึงถึงเสื้อผ้าที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

UPCYDE ดีไซน์สายกรีน เปลี่ยน ‘เปลือกผลไม้’ เป็น ‘เครื่องหนัง’

ความยั่งยืนต้องเริ่มที่กระบวนการคิด

สิ่งที่ทำให้อัพไซด์สามารถดำเนินธุรกิจรองเท้าของตนเองเดินต่อได้ก็คือ ความเชื่อ การมองภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานให้ออก การหาจุดกึ่งกลางให้เจอ และต้องหมั่นพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ 

เป้าหมายสำคัญของบริษัทคือ การแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยจำเป็นต้องมีความร่วมมือที่หลากหลายทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการออกแบบ โดยเฉพาะการอัปไซเคิลและรีไซเคิล 

บริษัทจึงจำเป็นต้องการพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการลดปริมาณขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น อัพไซด์จึงเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และเข้าปรึกษากับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จนได้มีโอกาสไปเจอกับนักลงทุนที่สิงคโปร์และได้เงินทุนกลับมาต่อยอดเพื่อพัฒนาบริษัทให้เกิดความยั่งยืน

“SHOESHOUSE จะช่วยอุตสาหกรรมผลิตรองเท้า ส่วน UPCYDE จะไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุหนังเทียม เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากธุรกิจที่เรามี”