นวัตกรรมอบแห้ง จบปัญหาหอมแดงฝ่อต่อยอดเวชสำอาง

นวัตกรรมอบแห้ง จบปัญหาหอมแดงฝ่อต่อยอดเวชสำอาง

กรมวิชาการเกษตรโชว์นวัตกรรมหอมแดงอบแห้งเก็บได้นาน 8-12 เดือน พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มนำส่วนเหลือทิ้งผลิตเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หอมแดงสดเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่จากปัญหาการจัดเก็บด้วยวิธีการแขวนผึ่งลมไว้ จะสามารถคงสภาพหอมแดงได้ 2-3 เดือน เท่านั้น โดยหอมแดงสดจะเปลี่ยนสภาพเน่าเสีย ขึ้นรา และฝ่อ  กรมวิชาการเกษตรโดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงได้ศึกษาวิจัยแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้

 

นวัตกรรมอบแห้ง จบปัญหาหอมแดงฝ่อต่อยอดเวชสำอาง นวัตกรรมอบแห้ง จบปัญหาหอมแดงฝ่อต่อยอดเวชสำอาง นวัตกรรมอบแห้ง จบปัญหาหอมแดงฝ่อต่อยอดเวชสำอาง

          โดยการนำหอมสดมาหั่นแล้วแช่ในสารละลายแคลเซี่ยมคลอไรด์และกรดซิตริก เพื่อคงลักษณะทางกายภาพของหอมแดงสดไว้ จากนั้นอบด้วยลมร้อน ซึ่งหอมแดงอบแห้งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 8-12 เดือน เมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร นำมาแช่น้ำสะอาดเพื่อให้หอมแดงจะคืนตัวโดยมีลักษณะทางกายภาพและกลิ่นเหมือนหอมแดงสด

  นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ยังได้ทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ของหอมแดง  โดยหลังจากการเก็บเกี่ยวหอมแดงเกษตรกรจะนำต้นหอมแดงมามัดให้เป็นกลุ่มๆ นำมาแขวนตากและจะแต่งทำความสะอาดมัดเป็นจุกก่อนการจำหน่าย ซึ่งจะมีส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์คือ เปลือก ราก ใบ ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้มีปริมาณรวม 4,000 ตันต่อปี คิดเป็น 10% ของผลผลิต คณะนักวิจัยจึงได้วิจัยพัฒนาสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า

โดยนำเปลือก ราก และใบหอมแดง มาสกัดสารสำคัญและกลั่นน้ำมันหอมระเหย พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารเคอร์ซิติน สารในกลุ่มไกล์โครไซด์ ซัลเฟอร์ และกลุ่มฟาโวนอย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโปรตีนทำให้คอลลาเจนอยู่ในสภาวะปกติไม่สลายตัว หรือ ลดริ้วรอยตามวัย  สร้างเซลล์ใหม่ได้รวดเร็ว หรือสมานแผล และลบรอแผลเป็น  และลดอาการหวัดคัดจมูก

 

จากคุณสมบัติดังกล่าว ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงร่วมกับ จังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วิจัยและพัฒนาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยมาทำเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่  ครีมบำรุงผิวหน้า  เจลแต้มสิว  โฟมล้างหน้า และเวชภัณฑ์ ได้แก่ สติกเกอร์แผ่นแปะ และน้ำมันหอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัด

ผลจากการวิจัยพัฒนาการแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้  นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าของหอมแดงแล้วยังทำให้สามารถกระจายผลผลิตและลดปริมาณหอมแดงไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ ทำให้ราคามีเสถียรภาพ อำนาจการต่อรองของกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรจะมีมากขึ้น  

รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการบริโภคหอมแดงในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาหอมแดงสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และการแปรรูปหอมแดงยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกร  

สำหรับหอมแดง มีแหล่งผลิตที่สำคัญที่  จังหวัดศรีสะเกษ  มีคุณลักษณะพิเศษคือเปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง  เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่นิยมอาหารไทย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น โดยหอมแดงคุณภาพที่ส่งออกต้องมีลักษณะเป็นหัวเดียวหรือหัวที่ยังไม่แยกออก ขนาดหัวจัมโบ้ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4.0 เซนติเมตร(ซม.)  หรือเฉลี่ย 3.47 ซม.  ผิวแห้งสนิท ปราศจากโรคแมลง ขนาดหัวสม่ำเสมอ และปลอดภัยจากสารพิษ  ส่วนใหญ่ปลูกในอำเภอยางชุมน้อย ขุขันธ์ ราษีไศล วังหิน และกันทรารมย์