Climate Tech ยุคที่มนุษย์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ กอบกู้วิกฤติ ‘โลกรวน’

Climate Tech ยุคที่มนุษย์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ กอบกู้วิกฤติ ‘โลกรวน’

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นใหญ่และเร่งด่วนของมนุษยชาติ เทคโนโลยีด้าน Climate Change จะเป็นความหวังเพื่อกู้วิกฤติโลกร้อน

Key Points: 

  • นักวิจัยใช้เอไอทำนายสถานการณ์อุณหภูมิโลก พบว่า โลกมีโอกาสเกิดอุณหภูมิสูงเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า
  • Google กำลังใช้ระบบแมชชีนเลิร์นนิง จับสัญญาณจากดาวเทียม เพื่อแจ้งเตือนน้ำท่วมและไฟป่า
  • บราซิล อิตาลี และสเปน นำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาใช้จัดการทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการเกษตร
  • สหประชาชาติขอร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Climate Change เพื่อนำไปปรับใช้ และสามารถถ่ายทอดไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา

Climate Tech ยุคที่มนุษย์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ กอบกู้วิกฤติ ‘โลกรวน’

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นประเด็นใหญ่และเร่งด่วนของมนุษยชาติ โลกกำลังส่งสัญญาณประท้วงทวงคืนพื้นที่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินแห้งแล้ง และมลพิษจากฝุ่นควัน 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยโคโลราโด ใช้เอไอที่มีความแม่นยำทำนายสถานการณ์อุณหภูมิโลกที่กำลังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่า โลกมีโอกาสเกิดอุณหภูมิสูงเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า

ระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ได้สร้างผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายเร็วขึ้นถึง 10 เท่า และยังทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกมุมโลกรุนแรงและเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน UNEP (United Nations Environment Programme) หน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การสหประชาชาติ กำลังนำเอไอเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero)

แพลตฟอร์มดังกล่าวชื่อว่า World Environment Situation Room (WESR) ใช้เอไอวิเคราะห์สถานการณ์โลกร้อนแบบเรียลไทม์ มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของทั้งโลกแบบเชิงลึก เพื่อสามารถทำนายและแจ้งเตือนได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ก็ยังมีเทคโนโลยีด้าน Climate Tech ระดับโลกที่ถูกนำมาใช้งานจริงในบางประเทศ เพื่อปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ไอเอเหล่านั้นได้ตอกย้ำว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะใช้ปัญญาประดิษฐ์กอบกู้โลกรวน” 

Climate Tech ยุคที่มนุษย์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ กอบกู้วิกฤติ ‘โลกรวน’

Google ‘Flood Hub’ ทำนายน้ำท่วม

เครื่องมือทำนายน้ำท่วมและไฟป่าของบริษัทกูเกิล ถูกเปิดตัวในเวทีการประชุมการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 27 (COP27) โดยการใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิง รับสัญญานจากดาวเทียม เพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้คนเมื่อมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 

Flood Hub แสดงให้เห็นว่าน้ำท่วมหรือไฟป่าน่าจะเกิดขึ้นที่ไหน และเกิดเวลาใด โดยมีโค้ดสีกำกับให้เห็นชัดเจน พร้อมทั้งบอกจุดเสี่ยงผ่านการปักหมุด หากคลิกที่หมุดดังกล่าว ก็จะพบหน้าต่างประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า มีการเปรียบเทียบระดับความสูงของน้ำท่วมที่สัมพันธ์กับความสูงของร่างกายผู้ใหญ่

กูเกิลหวังว่าเครื่องมือนี้จะสามารถช่วยให้ผู้คนเห็นความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และหวังว่าองค์กรหรือภาครัฐจะสามารถระดมความช่วยเหลือตามสถานการณ์ที่เกิดจริงได้ทันเวลา

ช่วงปี 2564 ระบบ Flood Hub ได้ถูกนำมาใช้กับพื้นที่ในประเทศอินเดียและบังกลาเทศ ทางกูเกิลชี้แจงว่า เตรียมขยายบริการระบบทำนายน้ำท่วมให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ เพิ่มอีก 18 ประเทศ

ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย ศรีลังกา บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน ชาด (Chad) คองโก ไอวอรีโคสต์ กานา กินี มาลาวี สหพันธ์ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน แองโกลา ซูดานใต้ นามิเบีย ไลบีเรีย และแอฟริกาใต้ 

‘Pano’ เอไอตรวจจับไฟป่า

มหาวิทยาลัยโคโลราโด ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนา “ระบบเอไอตรวจจับไฟป่า” ที่ประมวลผลจากข้อมูลของดาวเทียม สามารถแจ้งเตือนเจ้าของบ้านและผู้คนในละแวกนั้นหากมีความสุ่มเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งสามารถช่วยหน่วยดับเพลิงประเมินสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 

จุดเด่นของ Pano คือ การลดความเสี่ยงของหน่วยดับเพลิงและผู้ที่ประสบภัยจากการถูกไฟคลอก เพราะในบางพื้นที่มีกลุ่มไฟสูงจนไม่สามารถเข้าไปได้ การมีระบบดังกล่าวจะสามารถประเมินได้ว่าบริเวณไหนมีจำนวนกองเพลิงเบาบาง ซึ่งช่วยให้ลดภาระงานของนักดับเพลิง ทำให้ควบคุมเพลิงได้ง่ายกว่าการใช้ระบบแมนนวล

Pano ถูกนำไปใช้กับบริษัทสาธารณูปโภค องค์กรรัฐ หน่วยงานดับเพลิง บริษัทป่าไม้ และเจ้าของที่ดินเอกชนอื่นๆ ซึ่งได้ให้บริการใน 5 รัฐของสหรัฐอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด โอเรกอน ไอดาโฮ และมอนทานา) และสองรัฐในออสเตรเลีย (นิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์) ทางทีมผู้พัฒนาแจงว่า มีแผนจะขยายกำลังไปทั่วโลก 

‘IoT’ สำหรับการจัดการน้ำ

อุตสาหกรรมที่มีการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด มีการปล่อยน้ำทิ้ง โดยไม่นำกลับมาใช้ใหม่ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หรือหากเกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกษตรกรก็ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้

บราซิล อิตาลี และสเปน ได้นำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาใช้จัดการทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการเกษตร ผ่านโครงการ Smart water management platform (SWAMP) ด้วยแนวคิดระบบชลประทานอัจฉริยะ 

โดยอิงจากการวิเคราะห์แบบองค์รวมที่รวบรวมข้อมูลจากทุกด้านของระบบ เพื่อป้องกันการรั่วไหลในระบบจ่ายน้ำ ที่เป็นสาเหตุของการปล่อยน้ำทิ้งอย่างสูญเปล่า และอาจทำให้สูญเสียผลผลิตอีกด้วย 

จากโครงการดังกล่าว พบว่า IoT สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ประหยัดน้ำได้ถึง 18-38% และสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร ทำให้มีน้ำใช้งานตลอดทั้งปี 

โลกต้องการผู้ช่วยอย่าง ‘Climate Tech’ 

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย หากแต่โซลูชันดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาพภูมิอากาศที่กำลังแปรปรวนอยู่ในขณะนี้ 

สหประชาชาติขอร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Climate Change มากขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้ และสามารถถ่ายทอดไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน

เพราะปัจจุบัน Climate Tech ได้นำมาใช้กับประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ทำให้บางประเทศเข้าไม่ถึงนวัตกรรมเหล่านี้ และกำลังเผชิญกับวิกฤติโลกรวนอย่างรุนแรง