ไทย-เกาหลี ร่วมศึกษาแนวทางสร้าง ‘ท่าอวกาศยาน’ ปล่อยจรวดในไทย

ไทย-เกาหลี ร่วมศึกษาแนวทางสร้าง ‘ท่าอวกาศยาน’ ปล่อยจรวดในไทย

จิสด้า (GISTDA) ร่วมกับสถาบันวิจัยการบิน-อวกาศเกาหลี (KARI) ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างท่าอวกาศยาน (Space port) ฐานปล่อยจรวด ในประเทศไทย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ สถาบันวิจัยการบิน-อวกาศเกาหลี (KARI) สาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือ สำหรับการเจรจาความร่วมมือด้านอวกาศระหว่าง ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี

ซึ่งมีหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกันคือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย” และยังร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศสู่ระดับภูมิภาค โดยจะสนับสนุนบุคลากรและกิจกรรมในประเทศไทย ตามที่ทั้งสองเห็นชอบร่วมกัน 

 

ท่าอวกาศยาน

อย่างไรก็ตาม คำว่า ท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport อาจจะเป็นคำใหม่สำหรับใครหลายคน แต่ที่เราคุ้นเคยกันก็คือ ฐานปล่อยจรวด นั่นเอง

ด้วยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์นอกจากจะมีหน้าที่ปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้ว ยังเป็นสถานที่ลงจอดหรือจุดแวะพักสำหรับอวกาศยานในอนาคต เช่น เที่ยวบินทัวร์อวกาศ เที่ยวบินข้ามทวีป เป็นต้น 

ประเทศไทย ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรประมาณละติจูด 5 - 20 องศาเหนือ ซึ่งบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเป็นผลดีต่อการส่งจรวดที่ใช้แรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก เพื่อเสริมความเร็วให้กับจรวด

เพราะบริเวณแนวเส้นหรือใกล้เส้นศูนย์สูตร เป็นจุดที่มีความเร็วจากการหมุนของโลกเร็วกว่าจุดอื่นๆ ทำให้ประหยัดทั้งพลังงานและงบประมาณจำนวนมหาศาลในการปล่อยจรวดแต่ละครั้ง 

ซึ่งจรวดที่ถูกส่งจากฐานปล่อยบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จะทำให้ดาวเทียมที่นำส่งไปพร้อมจรวดเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเฉพาะดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit) ที่มีเส้นทางโคจรอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรของโลก 

ฐานปล่อยจรวด

แม้กระทั้ง สหรัฐอเมริกา ยังสนใจฐานปล่อยจรวด Alcantara ที่ประเทศบราซิล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ประมาณละติจูดที่ 2 องศาใต้

จนเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทพัฒนาจรวดของอเมริกาได้ใช้ฐานปล่อยจรวดดังกล่าว 

เช่นเดียวกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ใช้ฐานปล่อยจรวด Guiana Space Center ที่เฟรนช์เกียนา มานานร่วมทศวรรษ โดยฐานปล่อยจรวดดังกล่าวก็ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกัน ประมาณละติจูดที่ 5 องศาเหนือ

อีกประการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างท่าอวกาศยาน คือ จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่งและมีประชาชนอาศัยอยู่น้อยหรือไม่มีเลยในด้านทิศตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

เนื่องจากเป็นทิศที่จรวดจะต้องโคจรหลังจากที่ถูกปล่อยออกจากฐานเพื่อให้ตรงกับทิศทางวงโคจรของโลก จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฐานปล่อยจรวดส่วนมากมักจะอยู่ติดทะเลโดยเฉพาะด้านทิศตะวันออก ลักษณะเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย

โดยรวมแล้วนับว่าประเทศไทยเราถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องของ สภาพภูมิศาสตร์ครบถ้วนสำหรับการสร้างท่าอวกาศยาน 

ท่าอวกาศยานจึงเป็นหนึ่งในวิทยาการอันล้ำหน้า ที่จะเหนี่ยวนำให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมอวกาศ สู่การรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทยจากฝีมือคนไทยด้วยกันเอง และนอกจากนั้นท่าอวกาศยานยังเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และสถาบันวิจัยการบิน-อวกาศเกาหลี (KARI) เตรียมที่จะลงนามความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยานที่ประเทศไทย ในวันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (โยธี) 

โดย KARI และรัฐบาลเกาหลีจะดำเนินศึกษา และประเทศไทย GISTDA จะสนับสนุนบุคลากรและกิจกรรมในประเทศไทย ตามที่ทั้งสองเห็นชอบร่วมกัน