GISTDA แจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดจีนตกสู่พื้นโลก 5 พ.ย.นี้ !!!

GISTDA แจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดจีนตกสู่พื้นโลก 5 พ.ย.นี้ !!!

GISTDA ติดตามและอัพเดตการตกสู่พื้นโลก ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี วาย4 หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่สถานีอวกาศเทียนกง โดยใช้โปรแกรมการจัดการจราจรอวกาศ ZIRCON ที่พัฒนาขึ้นเอง ติดตามเส้นทางโคจรอย่างใกล้ชิด

GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ในการติดตามและคาดการณ์การตกของชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี วาย4 (Longmarch 5B-Y4)

พบว่า ชิ้นส่วนของจรวดดังกล่าวจะตกสู่พื้นโลกในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยได้ เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน (ตามภาพกราฟิกแสดงให้เห็นทิศทางการเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย)

โดยวันนี้ (3 พ.ย.) จะโคจรในช่วงเวลาประมาณ 13:54 ถึง 13:56 น. พาดผ่านบริเวณพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี

ชิ้นส่วนใหญ่หลุดรอดชั้นบรรยากาศ

สำหรับวัตถุอวกาศดังกล่าวขณะนี้โคจรสูงจากพื้นโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 177 กิโลเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 21.6 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ) 

ส่วนจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดตกของชิ้นส่วนจรวดฯ ขณะนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และจะสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำก็ต่อเมื่อวัตถุอวกาศอยู่ห่างจากพื้นโลกโดยเฉลี่ยไม่เกิน 130 กิโลเมตร (ระยะห่างของวัตถุอวกาศกับพื้นโลกมีผลอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์และคาดการณ์จุดตก ดังนั้น ยิ่งใกล้โลกเท่าไรจะยิ่งแม่นยำมากขึ้น)

ทั้งนี้ การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ใช้ระบบ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์ติดตาม และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล 

GISTDA แจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดจีนตกสู่พื้นโลก 5 พ.ย.นี้ !!!

คนไทยเสี่ยงอันตราย 1.4%

สำหรับปฏิบัติการของลองมาร์ช 5บี วาย4 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อนำโมดูลเหมิงเถียน (Mengtian) มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยบนอวกาศ อาทิ การทดลองด้านฟิสิกส์ของไหล, วัสดุศาสตร์, เทคโนโลยีอวกาศ และอื่น ๆ เป็นต้น

หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ วันนี้ มีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.4 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

เรื่องราวของวัตถุอวกาศที่ตกลงมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มมีการส่งดาวเทียม โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของดาวเทียมจะถูกเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ แต่กรณีที่เป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียม จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นเกิดการเผาไหม้ไม่หมดตกสู่พื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ที่ผ่านมากว่า 60 ปี ชิ้นส่วนจากอวกาศที่ตกลงมาสู่พื้นผิวโลกนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ให้ชีวิตและทรัพย์สินมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของวัตถุชิ้นนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวที่เกิดอีกด้วย

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องระวังชิ้นส่วนจรวดจีน

ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม GISTDA ก็ได้ติดตามและคาดการณ์การตกของชิ้นส่วนจรวด “ลองมาร์ช-5 บี วาย 3” ที่เดินทางออกจากเกาะไหหลำ นอกชายฝั่งทางใต้สุดของประเทศ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำส่งโมดูล “เวิ่นเทียน” น้ำหนัก 23 ตัน และยาว 17.9 เมตร ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักที่สองของสถานีอวกาศเทียนกง

โดยยืนยันว่า  “ชิ้นส่วนแทบทั้งหมดเผาไหม้ เมื่อเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก” และตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ที่ลองจิจูด 119 องศาตะวันออก และละติจูดที่ 9.1 องศาเหนือ ซึ่งบริเวณดังกล่าวคือ ทะเลซูลู อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ หรือทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ด้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ