รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป (hybrid work) | พสุ เดชะรินทร์

รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป (hybrid work) | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อโควิดคลี่คลาย การใช้ชีวิตประจำวันก็กลับมาเหมือนเดิม คำถามคือ แล้วรูปแบบการทำงานของผู้บริหารและพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ได้กลับไปเหมือนเดิมด้วยหรือไม่?

ในช่วงที่โควิดยังครุกรุ่น ได้เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานในอนาคต หรือ Future of Work ออกมามากขึ้น คำว่า Work from home / anywhere ได้กลายเป็นคำสามัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

การทำงาน / ประชุมผ่านทางระบบออนไลน์ได้กลายเป็นทักษะที่ทุกคนได้เรียนรู้และมีความชำนาญ ปัจจุบันเมื่อโควิดคลี่คลายลงและทุกคนกลับมาใช้ชีวิตกันแบบเดิมมากขึ้น รูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไปจากในอดีตจริงหรือไม่?

ปัจจุบันพบว่ารูปแบบการทำงานในยุคหลังโควิดขององค์กรต่าง ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 

  • ทุกคนในองค์กรกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 100% โดยมีความเชื่อว่าการทำงานที่ออฟฟิศนั้นจะช่วยเพิ่มทั้งความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และความผูกพันกับองค์กร 
  • พนักงานยังสามารถที่จะเลือกทำงานแบบ Work from anywhere ได้ 100% 
  • รูปแบบ Hybrid ซึ่งก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร เช่น บางแห่งแบ่งตามระดับพนักงาน หรือบางแห่งก็แบ่งตามหน่วยงานต่าง ๆ หรือบางแห่งก็แล้วแต่ความสมัครใจของพนักงาน เป็นต้น

รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป (hybrid work) | พสุ เดชะรินทร์

ล่าสุดได้มีงานวิจัยของอาจารย์จาก Harvard Business School ที่พยายามศึกษาว่ารูปแบบใดจะดีที่สุด ทั้งในแง่ความพึงพอใจของพนักงานและผลงานที่ออกมา และพบว่า การทำงานแบบ Hybrid เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด โดยเป็น Hybrid ที่ในหนึ่งสัปดาห์ จะมีบางวันที่พนักงานสามารถทำงานที่บ้าน และบางวันที่เข้าทำงานที่ออฟฟิศ 

โดยการทำงานแบบ Hybrid เป็นการผสมผสานทั้งความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการชีวิตของพนักงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำให้พนักงานได้เจอกับเพื่อนร่วมงาน มีการทำงานร่วมกันและสร้างความผูกพัน

จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าการทำงานแบบ Hybrid ส่งผลให้พนักงานมีความสุขในการทำงานที่สูงกว่าและผลงานออกมาดีกว่า รูปแบบในการทำงานในอีกสองรูปแบบ

นอกจากนี้บางบริษัทในต่างประเทศก็ได้สอบถามพนักงานของตนเองและพบว่าพนักงานไม่ได้ต้องการเข้าทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการทำงานที่บ้านทุกวันเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หลาย ๆ แห่งจึงได้เลือกรูปแบบของ Hybrid ที่ผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านและออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแน่ ๆ คือ ผู้บริหารและพนักงานมีทางเลือกและความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการประชุม

รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป (hybrid work) | พสุ เดชะรินทร์

จากในอดีตที่การประชุมนั้นทุกคนจะต้องมาปรากฎตัวพร้อมกันในห้องประชุม ปัจจุบันก็จะมีทั้งการประชุมแบบออนไลน์หรือ Hybrid มากขึ้น ในอดีตเมื่อผู้บริหารมีนัดประชุมซ้อนหรือติด ๆ กันหลายประชุม (และที่ประชุมอยู่กันคนละแห่ง) ผู้บริหารก็จะต้องเลือกที่จะเข้าร่วมแค่ประชุมเดียว

แต่ปัจจุบันผู้บริหารสามารถที่จะเข้าประชุมพร้อมกันมากกว่า 1 ประชุม (ผ่านทางออนไลน์) รวมทั้งเข้าร่วมประชุมระหว่างการเดินทางบนรถยนต์ ทำให้รูปแบบการทำงานมีทางเลือกและยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลที่กระทบต่อการบริหารทรัพยากรขององค์กรเช่นกัน Meta (บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram) เพิ่งประกาศว่าจะลดปริมาณพื้นที่สำนักงานลง โดยในหลาย ๆ สำนักงานก็จะปล่อยสัญญาเช่าพื้นที่ให้หมดลงโดยไม่เช่าต่อ 

เนื่องจาก Meta ได้ให้อิสระสำหรับพนักงานในการเลือกว่าจะทำงานแบบออนไลน์หรือแบบ Hybrid ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้พื้นที่สำนักงานย่อมลดน้อยลง หรืออย่างสำนักงานของ LinkedIn ก็ถูกปรับให้เป็นรูปแบบของห้องประชุมมากขึ้น รวมทั้งรูปแบบที่รองรับการทำงานแบบ Hybrid มากขึ้น 

ผลพวงต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงหนึ่งคือ นิยามของที่ทำงานจะเปลี่ยนไป ออฟฟิศไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นสถานที่สำหรับการทำงานให้สำเร็จอีกต่อไป (ในเมื่อสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้) บางบริษัทมองว่าออฟฟิศจะกลายเป็นสถานที่สำหรับการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน มากกว่าสถานที่ทำงาน

ก็ฝากลองทบทวนดูว่าในยุคหลังโควิด รูปแบบการทำงานในองค์กรท่านได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ และต่อไปนิยามของที่ทำงานขององค์กรท่านจะเปลี่ยนไปหรือไม่?

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]