ไทยควรบริหารจัดการน้ำแบบไหนถึงจะยั่งยืน

ไทยควรบริหารจัดการน้ำแบบไหนถึงจะยั่งยืน

เสวนา “ความยั่งยืนด้านน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ จากระดับโลกสู่ระดับท้องถิ่น” จากงาน SX Sustainability Expo 2022 ชี้ ไทยควรบริหารแบบ micro มองภาพใหญ่ และเริ่มต้นแก้ไขที่จุดเล็ก ๆ สำคัญคือ การนำเทคโนฯ Risk Map มาใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำทั้งหมด

ประเทศไทยนั้นเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ในทุก ๆ ปี ซึ่งในงานเสวนา “ความยั่งยืนด้านน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ จากระดับโลกสู่ระดับท้องถิ่น” จากเวที Talk Stage ในงาน SX Sustainability Expo 2022 ได้กล่าวถึงนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำที่ดีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้ “น้ำ” เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำในทุกระดับชั้น 

รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยทีมที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ไม่มีใครสามารถชนะภัยพิบัติได้ ทางแก้ปัญหาคือเราต้องปรับตัวเพื่อรับมือและฝ่าวิกฤติไปด้วยการแก้ปัญหาร่วมกัน

การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยให้ได้ผลต้องมองภาพรวมทั้งประเทศให้เป็นระบบ (macro) โดยมีพื้นที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่เชื่อมโยงเข้าหากัน และเพราะเราไม่สามารถทำทั้งหมดได้พร้อมกัน ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชน (micro) แล้วขยายผลสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่นเป็นเครือข่ายต่อไป หรือที่เรียกว่า “การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ให้ตรงสาเหตุ” 

ในประเทศไทยน้ำฝนทั้งเทศมีปริมาณอยู่ที่ 7 แสนลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ฝนของไทยจากเดิมที่เคยบวกลบ 9% ตอนนี้กลับกลายเป็นบวกลบ 20% ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ บวกลบอยู่ที่ 70% ซึ่งเมื่อเรามองเห็นภาพรวมทั้งประเทศเราก็สามารถรับมือได้

ทั้งนี้ เขื่อนในไทยสามารถจุน้ำได้ 8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำฝนเคยไหลเข้าสูงสุดอยู่ที่ 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ความต้องการใช้น้ำจึงพุ่งขึ้นถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่า การใช้น้ำของประเทศไทยนั้นค่อนข้างติดลบ

“เห็นน้ำท่วมแบบนี้ถามว่าเราเก็บได้ไหม ก็ไม่ ซึ่งน้ำก็ไหลลงแม่น้ำโขง อ่าวไทย ทั้งหมด แถมวันที่ท่วมเราไม่ได้คิดเรื่องเก็บน้ำเลย เรายังมีแผนที่แยกส่วนกัน แผนน้ำท่วม แผนน้ำแล้ง แต่เราไม่ได้มองเรื่อง การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เราต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพื่อให้เห็นภาพรวม” 

ไทยควรบริหารจัดการน้ำแบบไหนถึงจะยั่งยืน

ภาพโดย: whoi.edu

โดยการบริหารความเสี่ยง หมายถึง กลวิธีที่เป็นเหตุเป็นผลที่นำมาใช้ในการบ่งชี้ วิเคราะห์ ประเมิน จัดการ ติดตาม และสื่อสารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหน่วยงาน-ฝ่ายงาน หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อช่วยลดความสูญเสียในการไม่บรรลุเป้าหมายให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มโอกาสแก่องค์กรมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 30% ที่กำลังจะขยับขึ้นเป็น 33% แต่ปัญหาคือ ไทยไม่มีป่าเศรษฐกิจ มีอยู่เพียงแค่ 1 ล้านไร่ ขณะที่ประเทศฟินแลนด์มีป่าทั้งหมด 70% แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 10% และป่าเศรษฐกิจถึง 60% 

“ปัญหาของไทยคือ เราจัดการน้ำเป็นชิ้น ๆ คือมีแผนงานเป็นชิ้น ๆ มีแผนน้ำท่วม มีแผนน้ำแล้ง แต่ไม่เคยทำเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area - based Approach) ที่เป็นการจัดการน้ำตั้งแต่ภายในชุมชนและค่อยขยายผลไประบบนิเวศใหญ่ ๆ” รอยลกล่าว

ส่วนทางด้าน สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาด้วยระบบ micro เริ่มต้นจากการมองภาพรวมใหญ่ ๆ และเริ่มแก้ที่จุดเล็ก ๆ โดยการทราบถึงสมดุลของน้ำ

ทราบถึงแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง ความผันผวนของน้ำ ข้อจำกัดของระบบชลประทาน ความเหลื่อมล้ำที่พบในพื้นที่ มีการคาดการณ์ ตลอดจนการบริหารน้ำแยกประเภท เช่น น้ำท่วม-น้ำแล้ง น้ำในเขื่อน น้ำในแม่น้ำ และน้ำที่ร่วมกับทะเล ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้จัดการบริหารน้ำได้แก่ 

1. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ โดยการใช้ข้อมูล Data การสำรวจพื้นที่ การใช้กล้องระดับและเครื่องมือระบุค่าพิกัด (GPS) การใช้แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม แผนที่ระดับความสูง ภาพถ่ายทางอากาศ การใช้โปรแกรม Quantum GIS สำหรับประมวลผลข้อมูลด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เช่น แหล่งน้ำ ฝาย เป็นต้น

2. แอปพลิเคชั่น ThaiWater แพลตฟอร์มที่เป็นเหมือนแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศ WRF-ROMS สามารถรู้และเตรียมการล่วงหน้าก่อน 3 วัน โดยจะระบุพื้นที่ที่จะเกิดภัยอย่างชัดเจน ต่อยอดเข้าสู่ระบบแบบจำลองบริหารจัดการน้ำและบริหารจัดการภัยพิบัติ 

3. โครงการแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) ที่ชี้ให้เห็นจุดเปราะบาง หรือแหล่งน้ำในสถานที่ที่ต้องการการแก้ไขหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษกว่าจุดอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้พื้นที่เสี่ยงในการนำน้ำมาใช้ในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการวางผังเมือง

4. การเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการประมาณการปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ และนำมาประมวลเป็นภาพใหญ่ ซึ่งสามารถช่วยวิเคราะห์ปริมาณแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน เป็นการช่วยเฝ้าระวังและวางแผนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็สามารถรายงานสถานการณ์ปัญหาของในพื้นที่ไปยังหน่วยงานส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ความท้าทายหลักที่จะต้องตอบโจทย์ในขณะนี้ คือ การบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานเรื่องน้ำให้สมดุล เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความเจริญเติบโตของเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้ยากต่อการจัดการ ดังนั้น จึงต้องเกิดความร่วมมือในทุก ๆ ฝ่าย