NIA เปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่” ปั้นผู้ประกอบการไทย 1.5 หมื่นรายในปี 66

NIA เปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่” ปั้นผู้ประกอบการไทย 1.5 หมื่นรายในปี 66

เอ็นไอเอจับมือ 5 สถาบันการศึกษาเปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ (STEAM4INNOVATOR Center)” ผลิตโค้ชนวัตกรรม เพื่อปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ 1.5 หมื่นราย ในปี 66 พร้อมตั้งเป้าบรรจุเป็นวิชาใหม่ในคลาสเรียส

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จับมือ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏยะลา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ - STEAM4INNOVATOR Center” พื้นที่ในการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นโค้ชนวัตกร

รวมถึงการนำองค์ความรู้และกระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR ไปถ่ายทอดต่อให้เยาวชนได้พัฒนาฝึกฝนทักษะการสร้างนวัตกรรม โดยตั้งเป้าพัฒนาเยาวชนมากกว่า 15,000 คน ในปี 2566 และขยายเป็นทวีคูณในปีต่อไปผ่านการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ การบรรจุเป็นวิชาเรียน General Education และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยเครือข่ายซึ่งครอบคลุม 12 จังหวัดในภูมิภาคเหนือ กลาง ใต้ รวมถึงการเป็นหลักสูตรสำคัญสำหรับโครงการอาชีวะสร้างสรรค์แปรฝันสู่ธุรกิจ (RRR AWARD) ของเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่กระจายตัวทั่วประเทศ 

NIA เปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่” ปั้นผู้ประกอบการไทย 1.5 หมื่นรายในปี 66

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา NIA มุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรเยาวชนให้กับประเทศ ภายใต้หลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR หรือแนวทางการเรียนรู้สมัยใหม่ 4 ขั้นตอน ที่มุ่งเน้นกระบวนการให้เยาวชนสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนวัตกรบนพื้นฐานของ STEAM และการนำแนวความคิดเชิงนวัตกรรมมาทำเป็นธุรกิจให้ตอบโจทย์การสร้างระบบนวัตกรรมและการดึงคนให้เข้ามาอยู่ในระบบ 

พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานมาต่อยอดความสามารถด้านนวัตกรรม ผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้ขับเคลื่อนไปได้เพื่อสร้างโอกาสใหม่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ NIA ยังให้ความสำคัญกับการสร้าง “นวัตกร” หรือผู้เชื่อมโลกแห่งองค์ความรู้กับการสร้างธุรกิจ ด้วยการใส่กลไก Groom (พัฒนา) Grant (ให้ทุน) Growth (เร่งการเติบโต) แล้ว การสร้างเครือข่าย “ผู้สร้างนวัตกร” หรือ “โค้ชนวัตกร” ผู้ที่จะขับเคลื่อนให้ระบบนวัตกรรมหมุนไปได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา NIA ร่วมกับทั้ง 5 สถาบันการศึกษา ผลิตครู/อาจารย์ที่เป็นเครือข่าย ‘ผู้สร้างนวัตกร’ จำนวน 394 คน ผ่านโครงการ “STEAM4INNOVATOR Trainers’ Lab” การจัดตั้ง ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่เปรียบเสมือนการต่อยอดและขยายเครือข่าย โดยมีเป้าหมายในการนำแนวทางการสร้างนวัตกรและนวัตกรรมกระจายในระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันถอดต้นแบบและสร้างความเข้มแข็งของ 4C อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ 

NIA เปิด “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่” ปั้นผู้ประกอบการไทย 1.5 หมื่นรายในปี 66

  • Content & Tools สามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือจาก STEAM4INNOVATOR ได้ 
  • Coaching ครูและอาจารย์สามารถเป็นโค้ชเพื่ออบรมให้กับนักศึกษาและนักเรียน 
  • Connection เข้าใจบทบาทและสามารถเข้าถึงเครือข่ายหน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา ที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในทุกมิติ 
  • Cluster เชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรเยาวชน และสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแต่ละศูนย์ฯ ได้ขยายผลการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม บนกลยุทธ์และจุดแข็งที่โดดเด่นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาอื่นที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายได้

โดยศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่มีทั้งหมด 5 แห่ง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นที่ ภาคเหนือ ศูนย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ใช้กลยุทธ์ดาวกระจาย โดยมีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์เป็นแกนนำรวบรวมเครือข่ายคณะบริหารฯ ใน 6 วิทยาเขต คลอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน ตาก และพิษณุโลก มีการนำ STEAM4INNOVATOR ไปสร้างอาจารย์โค้ชนวัตกร 98 คน และนำร่องพัฒนานักศึกษาอย่างเข้มข้น 180 คนในโครงการ BALA RMUTL BCG’s Innovation for Business ได้ต้นแบบนวัตกรรม 12 ผลงานไปพัฒนาต่อ 

โดยในปี 2566 จะมุ่งเดินหน้าปรับใช้กระบวนการ STEAM4INNOVATOR ในรายวิชาต่าง ๆ ทั้งวิทย์และศิลป์เพื่อให้เข้าถึงนักศึกษามากขึ้น ขณะที่ภาคกลาง มีศูนย์ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ใช้กลยุทธ์ปูพรม โดยคณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ ที่บรรจุหลักสูตร STEAM4INNOVATOR และเครื่องมือการคิดค้นนวัตกรรมเพิ่มเข้าไปในการสอนวิชา General-Education (GenEd) สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของทุกคณะ รวมกว่า 400 คน เพื่อให้เกิดพื้นฐานในการมองปัญหาและโอกาส สร้างความเป็นนวัตกรให้กับนักศึกษา เห็นได้จากไอเดียนวัตกรรม 57 ผลงานที่น่าสนใจและต่อยอดได้ ถือเป็นต้นแบบการขยายผลแบบเชื่อมโยงกับระบบของมหาวิทยาลัย

ส่วนภาคใต้ ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานข้ามคณะ ข้ามวิทยาเขต เพราะเชื่อว่า “นวัตกรรมทำคนเดียวไม่ได้” โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. เป็นแกนนำชักชวนอาจารย์ในคณะแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การบริการและการท่องเที่ยว บริหารธุรกิจ และไอที ใน 5 วิทยาเขต มาร่วมฝึกเป็นโค้ชนวัตกร 23 คน นำ STEAM4INNOVATOR ไปประยุกต์ใช้ในวิชาของแต่ละคณะ และจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาระดับเข้มข้นมากกว่า 100 คน อีกทั้งขยายผลไปยังโรงเรียนมัธยมในเครือข่ายและโครงการพัฒนาผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ดำเนินการโดยศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) ซึ่งให้ความสำคัญกับ C: Connection เป็นพิเศษ โดยเน้นระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เครือข่ายสถานประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมสนับสนุนต่อยอดโครงการนวัตกรรมของผู้เรียนสู่การลงมือทำจริง ปัจจุบันมีหน่วยงานเครือข่าย 18 แห่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจ 15 คน และด้านเทคนิคทั้งด้านเคมี วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์การอาหาร และแพลตฟอร์มการให้บริการ รวมกว่า 30 คน 

STEAM4INNOVATOR Center แห่งที่ 5 เป็นการทำงานกับศูนย์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ของส่วนงานกลาง ดำเนินการขยายผลสร้างโค้ชนวัตกรในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 226 คน เชื่อมต่อการทำงานกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการของวิทยาลัย และส่งต่อไปที่โครงการอาชีวะสร้างสรรค์แปรฝันสู่ธุรกิจ RRR AWARD เพื่อให้เกิดการพัฒนาความคิดของเยาวชนทั่วประเทศจนสามารถต่อยอดสู่นวัตกรรมที่สร้างรายได้เเละจำหน่ายได้จริง 

สำหรับสถาบันการศึกษาที่สนใจร่วมเป็นศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ สามารถติดต่อเรียนรู้จาก 5 ศูนย์ฯ หรือ NIA ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และติดตามโครงการได้ที่ เพจ STEAM4INNOVATOR