NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”

NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”

NIA ชวนรู้จัก 4 ต้นแบบสตาร์ตอัป มาพร้อมกับมิชชั่น “เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสและการลงมือทำ” ส่งโซลูชั่นและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเรื้อรังภายในเมือง

กว่า 2 ปีกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ไม่คุ้นชินเกิดขึ้น พร้อมเป็นตัวเร่งให้เกิด “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ที่ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ ซึ่งการเข้ามาของ “โรคระบาด” นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของ “สตาร์ตอัป” ที่หลายรายสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสและสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น 

วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะพามารู้จักกับ “ต้นแบบสตาร์ตอัปแห่งชาติ” จากเวที Prime Minister Award: National Startup 2022 รางวัลเชิดชูเกียรติสตาร์ตอัปต้นแบบของไทย และ Prime Minister Award: Innovation For Crisis สตาร์ตอัปที่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตที่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศและประชากรโลก ซึ่งเพิ่งเข้ารับรางวัลจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสตาร์ตอัปที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA จำนวน 4 ราย จากผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 11 ราย

NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”

  • 1. รีคัลท์ (Recult) ผู้เปลี่ยนเกมเกษตรกรไทยให้รู้เท่าทันฟ้าฝน

แอปพลิเคชั่นที่ต้องการเห็นเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการเช็คปริมาณฝนซึ่งแอปฯ สามารถคำนวณได้ล่วงหน้านานกว่า 9 เดือน การวิเคราะห์ปัญหาที่เกษตรกรจะต้องเผชิญในแต่ละช่วงฤดู ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการทำการเกษตรผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้บริการมากกว่า 5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ทำพืชไร่ เช่น นาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และจากการติดตามผลพบว่าสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้นกว่า 30% นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลของเกษตรกรเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือธนาคาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องอาศัยการกู้เงินนอกระบบเพื่อมาลงทุน

นอกจากนี้ Recult ยังมีลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้งานระบบกว่า 10 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 5 แสนไร่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท และได้ขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์อีกด้วย 

NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”

  • 2. เฟรชเก็ต (Freshket) ผู้พยุงงานครัวให้ร้านอาหาร 4,500 แห่งทั่วกรุง 

ธุรกิจตลาดสดออนไลน์ที่รวบรวมวัตถุดิบทั้งของสด ของแห้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และของใช้สำหรับร้านอาหารไว้บนแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งได้ติดต่อและคัดเลือกวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักอย่างร้านอาหารที่มีมากกว่า 4,500 แห่งในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ได้รับการระดมทุนรอบซีรี่ย์บี จำนวน 23.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 800 ล้านบาท) โดยมีบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด เป็นผู้นำการลงทุนมูลค่า 14.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 500 ล้านบาท) และมีผู้ร่วมลงทุนคือบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด

NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”

  • 3. คิว คิว (QueQ) คิวเยอะแค่ไหนก็จัดการได้อยู่หมัด 

โซลูชันจองคิวที่ช่วยแก้ปัญหาการรอคิวนาน ทั้งร้านอาหาร ธนาคาร โรงพยาบาล ฯลฯ อดีตที่ผ่านมาคิวคิวเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการคิวของร้านค้าเพื่อลดความน่าเบื่อในการรอคิวของผู้ใช้บริการ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแอปฯ นี้ ได้ดิสรัปต์ทั้งปัญหาการรอคิวบริการในสถานที่ราชการที่ส่วนใหญ่มีความหนาแน่น เนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

การให้บริการในโรงพยาบาลสำหรับช่วยตรวจสอบคิวและการเข้าถึงการจองคิวล่วงหน้า เพื่อให้เป็นไปตามลำดับขั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนลงทะเบียน การให้คำปรึกษา การตรวจเลือด เอ็กซเรย์ การรับยา จนกระทั่งการจ่ายเงิน

นอกจากนี้ คิวคิวมีการคัดกรองความเสี่ยงก่อนจองคิวเข้าเมือง รวมถึงยังเป็นผู้เชี่ยวชาญสอนการทำธุรกิจให้กับสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ การเป็นกรรมการการแข่งขัน Startup Thailand League รวมถึงเผยแพร่เรื่องการทำธุรกิจสตาร์ตอัปและช่วยผลักดันระบบนิเวศสตาร์ตอัปให้มีพัฒนาการที่ดีดังเช่นในปัจจุบัน

NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”  

  • 4. “สำรวย ผัดผล” ต้นแบบผู้พลิกวิกฤติความยากจน 

สำรวย ผัดผล เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การฟื้นคืนผืนป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีน้ำสำหรับทำการเกษตรกว่า 500 ครัวเรือน และจัดตั้งศูนย์โจ้โก้เพื่อศึกษางานด้านการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช จำพวกข้าวและผัก ซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญในท้องถิ่น เพื่อการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาและให้องค์ความรู้กับชุมชน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นายสำรวย ได้ผลักดันให้เกิดขึ้นในชุมชนคือ ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศในการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สำหรับสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ตั้งของชุมชน

โดยถูกออกแบบให้เป็นลักษณะขั้นบันไดเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อสูบน้ำไปยังพื้นที่สูงและพื้นที่ห่างไกล เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เพื่อทดแทนการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานในการทำเกษตรกรรมลดลงและมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงได้ หรือเปรียบเสมือนน้ำไหลจากที่ต่ำสู่ที่สูง

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า รางวัล Prime Minister Award: National Startup 2022 ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน เร่งสร้าง และพัฒนาสตาร์ทอัพที่เป็นรูปธรรมในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ประกอบด้วย Freshket ตลาดสดออนไลน์ที่รวบรวมวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารไว้บนแพลตฟอร์มเดียว, Ricult แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลการเกษตรครบวงจร, แอปพลิเคชั่น คิวคิว, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด

สำหรับอีกรางวัลคือ รางวัล Prime Minister Award: Innovation For Crisis ที่มอบให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการระบาดของเชื้อไวรัส สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สามารถส่งต่อคุณค่าและประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชากรโลก ประกอบด้วย 

  1. รางวัลประเภทองค์กร-บุคคที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 
  2. รางวัลประเภทองค์กร-บุคคลที่ส่งเสริมประเด็นด้านการจัดการภัยพิบัติ ได้แก่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับร้องเรียนปัญหาเมือง, ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 
  3. รางวัลประเภทองค์กร-บุคคลที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจน ได้แก่ Noburo (โนบูโร) แพลตฟอร์มให้บริการสวัสดิการทางการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท, สำรวย ผัดผล ประธานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้