รัฐเดินหน้า GOV Cloud 2025 เชื่อมข้อมูล-ดันโอเพ่นดาต้าเต็มรูปแบบ

รัฐเดินหน้า GOV Cloud 2025 เชื่อมข้อมูล-ดันโอเพ่นดาต้าเต็มรูปแบบ

ดีอี-สดช.-เอ็นที ผนึกกำลังเปิดตัว “GDCC Open Data” ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภาครัฐ รองรับรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ ลั่นศักยภาพได้ถึง 200,000 วีเอ็ม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เดินหน้าปรับโครงสร้างคลาวด์ภาครัฐครั้งใหญ่ เปิดตัว “GDCC Open Data” ภายในงาน GOV Cloud 2025 : Empowering Thailand Government with GDCC Open Data หวังวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ของประเทศ รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารภาครัฐด้วยข้อมูล (Data-driven Government)

เร่งขยายการใช้งานคลาวด์ภาครัฐ จาก 40,000 เป็น 200,000 วีเอ็ม

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนภาครัฐให้เป็น “รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ” ผ่านนโยบาย Go Cloud First ซึ่งกำหนดให้ระบบใหม่ของรัฐต้องเริ่มบนคลาวด์เป็นลำดับแรก

ปัจจุบัน GDCC รองรับการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 40,000 Virtual Machines (วีเอ็ม) แต่จากการสำรวจความต้องการของหน่วยงานรัฐ พบว่าในระยะเวลาอันใกล้ รัฐจะต้องสามารถรองรับได้ถึง 200,000 วีเอ็มโดยเฉพาะเมื่อระบบขนาดใหญ่ เช่น ERP หรือ e-Document ภาครัฐทยอยเข้าสู่ระบบคลาวด์

รัฐเดินหน้า GOV Cloud 2025 เชื่อมข้อมูล-ดันโอเพ่นดาต้าเต็มรูปแบบ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความจุ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2569 ให้กับโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภาครัฐมากกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) รวมเป็นวงเงินราว 2,000 ล้านบาท

สำหรับสถิติการใช้คลาวด์ภาครัฐ GDCC ปี 2565-2568 งบ 10,000 ล้านบาท

ยอดขอใช้บริการสะสม ปี 2565 จำนวน 45,592 วีเอ็ม ปี 2566 จำนวน 66,278 ปี 2567 จำนวน 74,585 วีเอ็ม และปี 2568 จำนวน 82,339 วีเอ็ม

ยกระดับคลาวด์ด้วย GDCC Open Data – ผนึกพันธมิตรไอทีระดับโลก

GDCC Open Data คือการพัฒนาโครงสร้างคลาวด์ใหม่เพื่อรองรับข้อมูลเปิดภาครัฐ และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างระบบราชการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก เช่น AWS, Microsoft, Alibaba, Huawei, Oracle รวมถึงผู้ให้บริการของไทย อาทิ INET, NIPA และ CloudHM

ปลัดดีอีระบุว่า GDCC Open Data จะมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) การเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี AI และ Big Data ของภาครัฐ และการสร้างบริการภาครัฐที่โปร่งใส เชื่อมโยง และตรวจสอบได้ โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“ข้อมูลเปิดภาครัฐจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม บริการใหม่ และเศรษฐกิจฐานข้อมูลในอนาคต”

รัฐเดินหน้า GOV Cloud 2025 เชื่อมข้อมูล-ดันโอเพ่นดาต้าเต็มรูปแบบ

สดช. เร่งมาตรฐานข้อมูล – รองรับการเชื่อมโยงบริการภาครัฐ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการ สดช. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐใช้งาน GDCC แล้วกว่า 1,100 หน่วยงาน รวมมากกว่า 3,700 ระบบ และได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อการให้บริการข้อมูล เช่น Citizen Portal, Biz Portal, Health Link และระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ GD Catalog รวมถึงระบบยืนยันตัวตนกลาง (Digital ID)

ในระยะต่อไป รัฐบาลจะเร่งจัดทำมาตรฐาน “การแบ่งชั้นข้อมูล” ตามระดับความอ่อนไหว (Sensitivity Classification) เพื่อกำหนดแนวทางว่าข้อมูลใดต้องจัดเก็บในภาครัฐ ข้อมูลใดสามารถใช้บริการคลาวด์ภายในประเทศ หรือในระดับนานาชาติได้ ซึ่งมาตรฐานนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2568 และจะเปิดให้หน่วยงานที่แสดงความจำนงไว้กว่า 200 แห่งทยอยขึ้นคลาวด์ทันที

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที ระบุว่า เอ็นที พร้อมเป็นแกนกลางสนับสนุนระบบคลาวด์ GDCC Open Data โดยได้พัฒนา Cloud Management Platform (CMP) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับบริหารการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบคลาวด์ต่าง ๆ ของภาครัฐ ช่วยให้สามารถจัดการข้อมูลตามความเหมาะสม และรองรับความต้องการใช้งานที่หลากหลาย

“การเปิดข้อมูลภาครัฐ (Open Data) จะไม่เพียงสร้างความโปร่งใส แต่ยังสามารถนำมาใช้เทรน AI ของภาครัฐ บนข้อมูลของประเทศไทยเอง ซึ่งจะกลายเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ของชาติในอนาคต” พ.อ. สรรพชัย กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ GDCC Open Data ถือเป็นกลไกสำคัญในการเดินหน้าแผน “Digital Thailand 2025 ระยะที่ 3” ที่เน้นการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการให้ทำงานแบบ Data-driven และสร้างบริการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในทุกมิติ