ใครบ้างที่ต้องระวัง ‘เอไอ’ สัญญาณเตือนว่า ‘คุณอาจถูกแทนที่’

ใครบ้างที่ต้องระวัง ‘เอไอ’ สัญญาณเตือนว่า ‘คุณอาจถูกแทนที่’

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจัดรายการวิทยุ Thinking Connect กับอาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย หัวข้อ “Google ออก AI ตัวใหม่ บัณฑิตไทยจะตกงาน” ปรากฏว่ามีคนสนใจดูคลิปรายการย้อนหลังใน YouTube เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ปกติคนจะมาดูไม่มากนัก ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากคนเห็นความสามารถเอไอที่เก่งขึ้น แล้วเริ่มกังวลมากขึ้นว่าตัวเองอาจตกงาน

หลังจาก Google ออกเอไอ เวอร์ชันใหม่ออกมา (Gemini 1.5 Pro) ไม่กี่วัน บริษัท Anthropic ก็ออก Claude 4.0 ออกมาแข่งกัน และมีประสิทธิภาพในบางด้านที่เก่งกว่าเอไอตัวอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการเขียนโปรแกรม ผมลองให้เขียนโปรแกรมเกมหมากรุกสากล โดยให้แข่งกับคนได้ ปรากฏว่าเขียนคำสั่ง Prompt ไม่กี่บรรทัด เขาสามารถสร้างโปรแกรมออกมาได้ด้วยความรวดเร็วในไม่กี่นาที และวิธีคิดเล่นหมากรุกของเขาก็จัดอยู่ในขั้นพอใช้ได้

ผมเองไม่ได้เล่นเก่งมากนัก และพอทดลองเล่นกับเขา เกือบหนึ่งชั่วโมงกว่าจะชนะเขาได้ โปรแกรมแบบนี้บัณฑิตที่จบการเขียนโปรแกรมมาใหม่ๆ ไม่สามารถจะเขียนได้ในเวลารวดเร็วแน่นอน อาจใช้เวลาเป็นเดือน และยิ่งขาดพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดี ซึ่งหลักสูตรคอมพิวเตอร์หลายมหาวิทยาลัยในบ้านเรามักละเลย ยิ่งไม่น่าจะเขียนได้เลย

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ มีการกล่าวถึง Agentic AI ที่นำ Generative AI ไปต่อยอด ให้คิด และทำงานแทนคนได้โดยอัตโนมัติ โดยคนไม่ต้องสั่งงานอะไร และอนาคตสามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาด และปรับปรุงตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มพัฒนา Agent มาทำงานบางอย่างแทนคนได้แล้ว

ผมทดลองพัฒนา Agent ขึ้นเอง ทั้งตอบอีเมลอัตโนมัติ หรือให้กรอกข้อมูลจาก Line หรืออีเมลที่ส่งเข้ามาลงในโปรแกรมสเปรดชีตอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำเองเลย สิ่งที่พบ คือ โปรแกรมเหล่านี้ทำงานแทนคนได้จริง แต่อาจมีข้อผิดพลาดได้ แม่นยำมากกว่า 90% ในบางงานที่ไม่ซับซ้อนเกินไป แต่ขึ้นกับการตัดสินใจของโมเดลเอไอ ที่จะทำหน้าที่แทนคน เช่น เมื่อมีข้อความเข้ามา เขาตัดสินใจแทนว่าจะกรอกข้อมูลลงสเปรดชีตอย่างไร หรือจะเรียกใช้เครื่องมือตัวไหนดี ซึ่งบางครั้งอาจมีข้อผิดพลาดได้

ดังนั้น ขั้นตอนสุดท้ายคนต้องเป็นผู้ตรวจสอบ กล่าวคือ บางอย่างแทนที่จะใช้คนจำนวนมากทำก็ให้เอไอทำงานแทนได้ตลอดเวลา และใช้คนเก่งไม่กี่คนทำงานในหน้าที่ผู้จัดการตรวจสอบงานที่ Agentic AI ทำ

ในอนาคตคนไม่สามารถสู้เอไอได้แน่นอน โดยเฉพาะความจำ การมองเห็น การอ่าน การพูด นอกจากนี้เอไอยังเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเก่งขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญเอไอทำงานตลอดเวลา ไม่เหนื่อย ไม่ป่วย หรือต้องลางานเพื่อไปทำภารกิจใดๆ

ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายการซื้อเอไอบางตัวที่แม้บอกว่าแพง ยังถูกกว่าอัตราเงินเดือนคนจบปริญญาตรี จึงไม่แปลกใจที่เราอาจต้องกังวลว่า ถ้าทักษะเราไม่ดีพอ เอไอจะมาแย่งงานเราแน่นอน โดยเฉพาะลักษณะงานบางอาชีพที่เป็นงานทำซ้ำๆ และไม่ยากเกินไป

นอกจากประเภทงานแล้ว ลักษณะหรือพฤติกรรมตัวคนเอง ก็มีส่วนกำหนดความเสี่ยงที่จะตกงานจากความสามารถเอไอที่เก่งขึ้น คนที่ไม่พัฒนาตัวเองหรือไม่มีทักษะที่โดดเด่น ย่อมถูกเอไอแทนที่สูงกว่า ถ้าถามว่าแล้วคนประเภทไหนที่เสี่ยงโดนเอไอมาทดแทน ก็อาจต้องดูสัญญาณเตือนว่าเราเข้าข่ายคนในกลุ่มเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่

ขาดทักษะเฉพาะทาง (ไม่มีความเชี่ยวชาญลึกในงานที่ทำ) : คนที่ทำงานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ความรู้หรือทักษะขั้นสูงมากนักจะเสี่ยงถูกเอไอแทนที่ง่ายกว่า เพราะเอไอเรียนรู้ และทำงานพื้นฐานซ้ำๆ ได้ดีเยี่ยม หากงานเราเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (เช่น คีย์ข้อมูล, ตรวจสอบข้อมูล, งานเอกสารทั่วไป) เราอาจแข่งกับระบบอัตโนมัติที่ทำงาน 24 ชั่วโมงโดยไม่เหนื่อย ดังนั้นงานที่มีกิจวัตรซ้ำเดิม และใช้ทักษะพื้นฐาน มักถูกจัดเป็นกลุ่มที่เอไอมีศักยภาพแทนที่สูง ต่างจากงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะหรือการตัดสินใจซับซ้อนซึ่งเอไอยังทำได้ไม่เทียบเท่าคน

ขาดทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ และ Soft Skills : แม้เอไอทำงานเทคนิคหลายอย่างแทนเราได้ แต่เอไอยังมีทักษะหลายอย่างโดยเฉพาะด้าน Soft Skills ที่ยังทำไม่ได้ดี อาทิ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความฉลาดทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความยืดหยุ่นปรับตัว จะกลายเป็นสิ่งที่นายจ้างมองหามากขึ้น หากใครขาดทักษะเหล่านี้ ก็จะไม่มีจุดแข็งอะไรที่เหนือกว่าเอไอ ดังนั้นผู้ที่ขาด Soft Skills เหล่านี้จะเสี่ยงตกงานหรืออย่างน้อยก็เสียโอกาสความก้าวหน้า เพราะพวกเขาไม่มีจุดเด่นเพิ่มเติมจากที่เอไอทำได้อยู่แล้ว

ขาดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) : การคิดวิเคราะห์เป็นระบบ และการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนเป็นทักษะที่ตลาดงานอนาคตต้องการสูงมาก ในขณะที่เอไอเก่งในการคำนวณหรือหาคำตอบจากข้อมูลที่มีอยู่ เอไอยังขาดความสามารถในการคิดเชิงวิจารณญาณ และวิเคราะห์บริบทใหม่ๆ เช่น คิดทางด้านจริยธรรม วิพากษ์ผลลัพธ์ที่ได้มา หรือการมองปัญหาในมุมที่ไม่เคยเจอมาก่อน คนที่ขาดทักษะนี้มักทำงานแบบตามคำสั่งหรือตามขั้นตอนตายตัว งานลักษณะนี้เอไอสามารถทำแทนได้ นอกจากนี้การขาดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ยังไม่สามารถปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่อีกด้วย

ทำงานผิดพลาดบ่อย ขาดความละเอียด : เอไอจะเก่งในงานที่ทำซ้ำเรื่องเดิม และความแม่นยำแม้อาจผิดพลาดบ้าง แต่ก็จะมีความถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งบางงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก อาจถูกต้องเกือบ 100% ซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่มีความผิดพลาดจากความประมาทหรือความล้าเป็นปัจจัย หากพนักงานคนใดขึ้นชื่อว่าทำงานผิดพลาดบ่อย ขาดความละเอียดรอบคอบ นายจ้างยิ่งมีแรงจูงใจนำระบบอัตโนมัติมาแทนที่ หุ่นยนต์สามารถทำงานโดย “ไม่รู้จักเหนื่อยหรือทำพลาด” ซึ่งช่วยลดความสูญเสียให้บริษัทได้

ทำงานโดยใช้เอไอเป็นเพียงเครื่องมือแต่ไม่ต่อยอดความรู้ : ปัจจุบันเอไอกลายเป็นเครื่องมือช่วยงานแทบทุกสายอาชีพ คนที่สามารถนำเอไอมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานตนเองได้ย่อมได้เปรียบในตลาดงาน กลับกันหากใครใช้เอไอเพียงแค่ตามคำบอก โดยไม่เข้าใจแก่นของงานหรือไม่พัฒนาต่อยอดผลลัพธ์ ย่อมไม่มีคุณค่าเพิ่มที่เหนือกว่าเอไอ หมายความว่าคนนั้นแค่สั่งเอไอทำงานออกมา แต่เขาเองไม่ได้เพิ่มความคิดสร้างสรรค์หรือวิจารณญาณลงไป งานของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับผลลัพธ์ที่เอไอทำได้อยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นคนที่พึ่งพาเอไอแบบผิวเผิน (เช่น คัดลอกคำตอบของเอไอโดยไม่กลั่นกรอง หรือใช้เอไอทำงานแทนทั้งหมดโดยตนเองไม่เข้าใจขั้นตอน) คนที่ใช้เอไอแบบนั้นก็อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงมาก เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งนายจ้างอาจรู้สึกว่าใช้เอไอโดยตรงไม่ต้องมีคนคนนั้นก็ได้ หรือถูกแทนที่ด้วยคนที่ใช้เอไอได้มีประสิทธิภาพ และเข้าใจงานมากกว่า

สรุปแล้วแม้เอไอจะเก่งขึ้น และสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการจ้างงานของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะไร้คุณค่าในอนาคต ตรงกันข้าม คนที่ปรับตัวได้จะยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และสังคมต่อไป กุญแจสำคัญคือ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม และเสริมพลังกับเอไอ รู้จักพัฒนาทักษะที่เราเก่ง และเสริมในด้านที่เอไอไม่เก่ง

พร้อมทั้งยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ หากทำได้เช่นนี้เอไอก็จะไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์ให้สูงยิ่งขึ้น เราทุกคนจึงควรมองยุคเอไออย่างมีความหวัง และเตรียมพร้อมที่จะเติบโตไปกับมันมากกว่าจะต้านทานมันอย่างหวาดกลัว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์