IT & gadget
รวบตึงประเด็นสำคัญ ‘พ.ร.ก.ไซเบอร์ 2568’ บังคับใช้แล้ว

"กรุงเทพธุรกิจ" มัดรวมสาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมออนไลน์ และ ร่าง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ” บังคับใช้แล้ว อ่านแล้วรู้เลยเกี่ยวกับใครบ้าง!
พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ 13 เม.ย.2568 คือ :
- พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
- พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
ร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับมีวัตถุประสงค์ป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ครอบคลุมประโยชน์ 5 เรื่อง
- สกัดกั้นช่องทางมิจฉาชีพใช้ก่ออาชญากรรม เช่น ซิมผี บัญชีม้า ส่ง SMS แนบลิงก์หลอกลวง
- เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น ศูนย์ AOC ธนาคาร ตำรวจ กสทช. ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์
- เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิด
- สร้างมาตรการให้ทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบ ลดมูลค่าความเสียหาย
- กำหนดให้ ปปง. เป็นหน่วยงานหลักกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขเยียวยาความเสียหายต่อประชาชน
สรุปสาระสำคัญร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ
1.ร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
1.แก้ไขนิยามและขอบเขต
- เพิ่มนิยาม "ผู้ประกอบธุรกิจ" ให้รวมถึง "ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล"
- เพิ่มนิยาม "กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล" และ "บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์"
2.กำหนดให้ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลัก
- กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- เปิดเผยข้อมูล "เลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล"
- แจ้ง "รายชื่อบุคคล" หรือ "เลขที่กระเป๋า" ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม
3.กำหนดหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแล
- ให้หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม
- ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ต้องตรวจสอบคัดกรอง SMS ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม
4.มาตรการระงับบริการโทรคมนาคม
- ให้ กสทช. สั่งระงับบริการโทรคมนาคมทันที เมื่อพบการกระทำความผิด
- การยกเลิกการระงับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.อำนาจปิดกั้นข้อมูล
- พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปิดกั้นข้อมูลได้ทันที กรณีพบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต
6.การคืนเงินผู้เสียหาย
- ให้ ปปง. เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดขั้นตอนการคืนเงิน
- หากไม่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้องภายใน 10 ปี เงินจะตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
- ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนฯ
7.ยกระดับศูนย์ AOC เป็น ศปอท.
- เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สามารถจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้รวดเร็ว
- ติดตามเส้นทางการเงิน เพื่อนำมาคืนผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.การร่วมรับผิดในความเสียหาย
- "สถาบันการเงิน / ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ / สื่อสังคมออนไลน์" ต้องร่วมรับผิดในความเสียหาย
- ศาลเป็นผู้พิจารณากำหนดค่าเสียหาย
- ภาระการพิสูจน์เพื่อไม่ต้องรับผิดเป็นของหน่วยงานเอกชนนั้นๆ
9.บทกำหนดโทษ
- สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล : กำหนดโทษปรับ
- ผู้แทนนิติบุคคลที่กระทำผิด : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- นิติบุคคลกระทำความผิด : ปรับ 5 เท่าของโทษปรับกรณีผู้แทนนิติบุคคล
- มีโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์
- มีโทษสำหรับผู้ซื้อ/ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้อง
- มีโทษสำหรับผู้นำข้อมูลบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมมาใช้เพื่อกระทำความผิด
2.ร่าง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
1.การขออนุญาตประกอบธุรกิจ
- ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาต
- หากประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องรับโทษอาญา
2.การกำหนดลักษณะการให้บริการ
- กำหนดลักษณะที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร
- เพื่อใช้ระบุว่าผู้ประกอบธุรกิจนอกราชอาณาจักรรายใดต้องขออนุญาต
พระราชกำหนดทั้งสองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางดิจิทัล