ดีป้า ชี้ 'ทรัมป์' ตั้งกำแพงภาษี ดันไทยมีโอกาสสร้างฐานผลิตสินค้าไอที

ดีป้าสบจังหวะสหรัฐฯเล็งขึ้นกำแพงภาษีสินค้าไอที หนุนรัฐเดินหน้ายาหอมรับการย้ายฐายการผลิต มองโลเคชั่นไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี ชี้อุตฯดิจิทัลไทยปี 68 นี้คฝโตประมาณ 12-13% ได้ AI เป็นตัวชูโรง
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยกรณีถึงนโยบายด้านภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะปัจจุบันมีสถานะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ว่า ประเทศไทยถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะไทยตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี การที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ประกาศนโยบาย ที่มีผลกระทบในภูมิภาคนี้ เชื่อว่าประเทศจีนคงมีความเคลื่อนไหวในอนาคต ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ที่มีภูมิศาสตร์ที่ดี ไทยสามารถจะวางตัวให้อยู่ในฐานะ วิน-วิน ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายได้
“สิ่งสำคัญประเทศไทยต้องทำให้ผู้ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตด้านเทคโนโลยีมาเลือกใช้ไทยเป็นฐานเพื่อผลิต ซึ่งเป็นโอกาสเพราะไทยอยู่ภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี และการขนส่งที่ได้เปรียบกับอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ จึงมองว่ามองว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการให้เป็นโอกาส”
ดังนั้น หากถามว่าต่อไปประเทศไทยต้องเลือกใช้เทคโนโลยีใดระหว่างของจีน หรือสหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบัน จีน ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมามีเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ฝั่งตะวันตกแล้วนั้น ต่อไปเชื่อว่าหลายๆผลิตภัณฑ์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีมากขึ้น หรืออาจมีการตั้งกำแพงภาษี แต่เชื่อว่ากระทรวงการพาณิชย์ของไทย จะเข้าไปเจรจาพูดคุยได้
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับ อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในปี 2568 นี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 12-13% โดยในอนาคตอันใกล้มองว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จะเข้ามาแทนที่การทำงานของคนเพิ่มมากขึ้น ทางดีป้าจะขอเข้าพบปรึกษาหารือกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายการทำงาน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ซึ่งในส่วนของดีป้า ได้พยายามส่งเสริม เทค สตาร์ทอัพของไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยปีนีจะเปลี่ยนรูปแบบ ด้วยการให้ทุนตั้งต้น สำหรับสตาร์ทอัพที่มีไอเดีย จำนวน 2 แสนบาท จำนวน 200 ทุน ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า เน้นผู้ที่มีไอเดียที่สามารถต่อยอดได้ และจะมีการดึงบริษัทชั้นนำ เช่น กูเกิล หัวเว่ย ไมโครซอฟท์ และ เอดับบิวเอส เข้ามาร่วมโครงการด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาดีป้าถือเป็น แองเจิ้ลอินเวสเตอร์ ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีพอร์ตใหญ่สุดในเอเชีย ด้วยจำนวน 160 สตาร์ตอัปในพอร์ต และมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท