ควันหลง! เฮียริ่งประมูลคลื่น 'เอกชน' ประสานเสียงขอลดราคา-ผ่อนจ่ายไลเซ่น

ควันหลง! เฮียริ่งประมูลคลื่น 'เอกชน' ประสานเสียงขอลดราคา-ผ่อนจ่ายไลเซ่น

เวทีฟังความคิดเห็นประมูล 6 คลื่น รวม 450 MHz เอไอเอสตบรับพร้อมสนใจทุกย่าน แต่ขอราคาเริ่มต้น วอนกสทช.ดึงคลื่น 3500 ประมูลล่วงหน้า ขณะที่ทรูฯ ขอลดราคาค่าคลื่น-ผ่อนจ่าย 10 งวด หวั่นต้นทุนพุ่ง

นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เกี่ยวกับร่างประกาศจัดสรรคลื่น 6 ความถี่ประกอบด้วย 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ รวม 450 เมกะเฮิรตซ์

เบื้องต้นกำหนดช่วงการประมูลไว้ในเดือนพ.ค.นี้ ถือเป็นการประมูลล่วงหน้า รองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, 5.5G, คลาวด์ และ Use Case ใหม่ๆ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้มือถือกว่า 100 ล้านเลขหมาย เครือข่าย 4G ครอบคลุม 99.15% และ 5G ครอบคลุม 91% คาดว่าภายในปี 72 การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือจะพุ่งสูงถึง 1,156 กิกะไบต์ต่อคนต่อปี

การเฮียริ่งครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 โดยเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียร่วมส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศได้ตั้งแต่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.68 เวลา 16.30 น.

 

นายสรณ กล่าวว่า กสทช.เตรียมเปิดประมูลคลื่น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.คลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired Band - FDD) : 850 เมกะเฮิรตซ์ , 1800 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ รองรับ 3G และ 4G

2.คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired Band - TDD & SDL) : 1500 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ , 2300 เมกะเฮิรจซ์ รองรับ 3G, 4G และ 5G

3.คลื่นความถี่ย่านสูง (High Band - TDD) : 26 กิกะเฮิรตซ์ รองรับ 5G โดยตรง ซึ่งการประมูลจะใช้ระบบ Clock Auction เช่นเดียวกับ Multiband ปี 2563 

โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้กสทช.จะต้องดำเนินการโปร่งใส ยุติธรรม และเกิดการแข่งขันจริง เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G and beyond อย่างเต็มรูปแบบ แม้ในพื้นที่ห่างไกล

ด้าน นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า บริษัท สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านที่ กสทช. เตรียมเปิดประมูล ขณะเดียวกัน ยังรอความชัดเจนว่าคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านหลักของ 5G มาตรฐานสากลจะถูกนำเข้าประมูลล่วงหน้าในรอบนี้หรือไม่ หากมีการเปิดประมูลเอไอเอส ก็สนใจ โดยต้องการให้ภาครัฐพิจารณาราคาคลื่นให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนและขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนอให้ กสทช. ประมูลคลื่นทุกย่านพร้อมกัน เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและลดข้อจำกัดของผู้เข้าร่วม ขณะเดียวกัน ราคาขั้นต่ำของคลื่นแม้จะต่ำกว่าการประมูลก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้การจัดสรรคลื่นไม่มีประสิทธิภาพและประเทศสูญเสียโอกาสใช้ทรัพยากรโทรคมนาคม 

นอกจากนี้ มองว่าเงื่อนไขการชำระเงินที่กำหนดให้จ่าย 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และอาจกระทบความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่าย เสนอให้แบ่งชำระเป็น 10 งวด เช่นเดียวกับการประมูลครั้งที่ผ่านมา