หวั่นคดี "พิรงรอง" ทำผู้บริโภคขาดการคุ้มครอง ติงกสทช.-รัฐอย่าลอยแพประชาชน

วงเสวนาจุฬาฯชี้ “พิรงรอง Effect” ชวนสังคมตั้งคำถามการทำหน้าที่ของกสทช. ระบุเป็นองค์กรที่ต้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและประชาชน ระบุ "โอทีที" คือระเบิดเวลาที่ยังรอให้กำกับดูแล ควรออกจากแดนสนธยาได้แล้ว ปลุก "รัฐบาล" อย่าลอยแพประชาชน ควรมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น
นายปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานเสวนา “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ .." ว่า ต่อกรณีที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาญานั้น
คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลฯได้ กระนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ก็มิอาจนิ่งเลยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมาก มาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกิดขึ้นได้
ดังนั้น กสทช.จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดขอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บรีโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถ รองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคลื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต
อีกทั้ง การฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยพยพยามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
ดังนั้น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวพิรงรอง ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
ชี้นักกฎหมายต้องดูบริบททุกมิติ
นายธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ให้ฐานะที่ตนเรียนกฎหมายและสอนกฎหมาย และพอมีความรู้ในด้านนิเทศศาสตร์มาบ้าง ขออัญเชิญแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยมีพระราชดำริว่า นักกฏหมายทั้งหลายอย่าเผลอนึกว่าตัวกฎหมายคือความยุติธรรม ที่แท้กฎหมายนั้นคือเครื่องมือ ของการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้น เราไม่ใช่คนที่ดูแค่ตามตัวบท แต่ต้องดูเจตนารมณ์ ดูบริบท ผลกระทบ สภาพความข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นคดีพิพาท ต้องดูทั้งข้อเท็จจริงรวมไปถึงเรื่องราวแวดล้อมทั้งหมดให้ครบถ้วน
"สำคัญที่สุดเราต้องนึกว่ากฎหมายนั้นคือเครื่องมือแสวงหาความยุติธรรม อย่าเผลอนึกว่ากฎหมายเป็นไปตามตัวหนังสือ เพราะไม่อย่างนั้น เราจะตกหล่นสาระสำคัญของเรื่องไป ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมพูดถึงทุกเรื่องที่เกิดขึ้น"
เขา กล่าวว่า ในไทยและในต่างประเทศ จะเห็นว่าการฟ้องคดีและการดำเนินคดีมีหลายครั้งที่จะพบว่าการนำคดีมาสู่ชั้นศาลฯ นั้นไม่ได้ต้องการผลการแพ้ชนะ แต่ต้องการผลข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาวิเคราะห์ให้รอบคอบ ในฐานะที่เป็นครูของนักกฎหมายขอบอกว่า นักกฎหมายต้องรอบคอบ และมีสติไม่ตกไปอยู่ในผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยการใช้ดุลยพินิจอย่าให้ตัวเราเป็นเครื่องมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
โอทีที=ระเบิดเวลาของกสทช.
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand กล่าวว่า แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว มุมหนึ่งเราต้องร่วมให้กำลังใจนางสาวพิรงรอง แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกช็อคกับคำตัดสินที่ออกมา ทั้งในแง่ของสิทธิทางด้านจิตใจ แต่ส่วนตัวขอคาราวะนางสาวพิรงรอง เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนี้ช่วยสร้างความตื่นตัวในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ชวนให้เกิดการถกเถียงการวิพากษ์ต่อประเด็นทางสังคม แต่ก็อยากฝากสังคมว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้น คำพิพากษาที่ออกมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล อย่าให้เป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่งแล้วก็สลายไป
สำหรับเอฟเฟกต์ที่เกิดครั้งนี้ เกิดการตั้งคำถามและหลายเรื่อง 1. หลักกระบวนการยุติธรรมนิติธรรม (rule of law) 2.การทำหน้าที่ธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างกสทช. ทั้งตัวคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. และสำนักงาน กสทช.จากที่เกิดวิกฤติมาหลายปีกสทช.ต้องออกมาจากแดนสนธยาก่อนที่มันจะมืดมนไปมากกว่านี้ 3.อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและโทรทัศน์ อยู่ในจุดที่ลำบากมากในแง่ของการคุ้มครองสิทธิผุ้บริโภค เห็นได้จากโทรคมนาคมก็เหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 ราย ส่วนโทรทัศน์ก็ขาดการกำกับดูแลจากกสทช.โดยมีเทคโนโลยีอย่างโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) เข้ามาแทนที่การดูทีวีแบบดั้งเดิม
ดังนั้น หากขาดการกำกับดูแลที่ชัดเจนจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการแข่งขัน ซึ่งจะไม่เป็นธรรมและจะกระทบต่อผู้บริโภคสิ่งเหล่านี้คือคลื่นใต้น้ำที่สะสมมานาน รอการสะสางแต่เหมือนทุกคนก็ลืมไป หรือซุกไว้ใต้พรมแต่พอมันมีประเด็นนี้ขึ้นมาทุกคนก็เป็นการดึงเอาเรื่องนี้มาถกเถียง กสทช.เองควรจะเข้ามากำกับดูแลโอทีทีตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งด้วยซ้ำ แต่เท่าที่ทราบก็มีแต่นางสาวพิรงรองที่ผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่พ.ย.ปี 2566 แต่ก็ยังไม่ได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการประชุมบอร์ดกสทช.แต่อย่างใด
"กสทช.ควรจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพกำกับดูแลโอทีทีได้แล้ว เพราะโอทีทีคือระเบิดเวลาที่รออยู่ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อสองปีที่แล้วเสียด้วยซ้ำ ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงขนาดนี้แล้วปล่อยให้เกิดช่องโหว่ทำให้เอกชนเข้ามาฟ้องกสทช.ได้"
หวั่นไร้เจ้าหน้าที่รัฐคุ้มครองประโยชน์ประชาชน
นายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมาย ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีช่องทางที่จะโต้แย้งคัดค้านการดำเนินงานได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นว่าเป็นอย่างไร หากคิดว่าการใช้อำนาจ การออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ถูกต้องก็จะเป็นการอุทธรณ์ภายในของสำนักงาน กสทช.หรือหากยังไม่เป็นที่พอใจ ก็เข้าสู่การไต่สวนในบอร์ดกสทช. และขั้นตอนสุดท้ายก็เข้าสู่กระบวนการในชั้นของศาลปกครองก็คือการเพิกถอนคำสั่งหรือกฎที่คิดว่าออกไม่ชอบโดยกฎหมาย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากศาลฯเป็นคนกลางต้องพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ และคำโต้แย้งของจำเลย ผมขอพูดตามที่เห็นเอกสารจดหมายข่าวที่ออกมีจำนวน 3 หน้า ในมุมของของนักกฎหมายเอฟเฟกต์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี เกิดความเกรงกลัวว่า จะถูกผู้ประกอบการฟ้องร้องสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ เป็นที่มาว่าอยู่เฉยๆดีกว่าเดี๋ยวถูกฟ้อง ตรงนี้คือปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น หากเรามีเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ก็คือคุ้มครองประชาชนคนไทยทุกคนแต่สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามว่าประเทศเราจะจะเดินต่อไปอย่างไร หากผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคถูกฟ้องร้อง
ทั้งนี้ นายณรงค์เดช มองว่ากสทช.ควรปฏิรูปการทำงานและการประชุมในอนาคต การบันทึกเสียงการประชุมที่เป็นการรักษาความลับ การจดบันทึกการประชุม เพราะตามที่ระบุว่ามีการจดบันทึกเท็จนั้นเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเกิดเรื่องนี้ได้ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องพิจารณาตัวเองว่าตัวเองมีอำนาจ หรือไม่มีอำนาจในเรื่องนั้นจริงๆหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงสถานะของนางสาวพิรงรองก็จะพบว่ายังคงเป็นบอร์ดกสทช.อย่างสมบูรณ์ แต่ในอนาคตเรื่องการลงคะแนนเพื่อรับรองหรือมีมติเรื่องใดๆออกไป ก็มองว่าบอร์ดกสทช.คงมีการตีความในการลงคะแนน และจะมีการใช้เสียงชี้ขาดของประธานกสทช.อีกอย่างแน่นอน
หวั่นสุญญากาศทีวีดิจิทัลหลังสิ้นสุดใบอนุญาต
นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า การมาถึงของโอทีที ซึ่งเป็นบริการสื่อหรือเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายใดเข้าไปควบคุม ก็คือแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติที่มาหาผลประโยชน์จากโฆษณาในไทย เช่น YouTube, Netflix, LINE TV และ Prime Video
ต่างกับระบบ ไอพีทีวี (Internet Protocol Television) เป็นบริการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แบบควบคุมเครือข่ายส่วนใหญ่บริการโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาต ซึ่งในไทยมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว อาจต้องใช้กล่องรับสัญญาณ (Set-Top Box) และสมัครสมาชิก ซึ่งตรงนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมาย กสทช.
ทั้งนี้ ไอพีทีวีถูกจัดเป็นบริการโทรทัศน์ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ผู้ให้บริการต้อง ขอใบอนุญาตจาก กสทช. (ประเภทบริการโทรทัศน์หรือบริการสื่อสาร) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านเทคนิค การจัดการเนื้อหา และอาจมีข้อกำหนดให้ส่งสัญญาณช่องรายการบังคับ (Must-Carry) แต่ตามกฎหมาย กสทช. โอทีทีและไอพีทีวีแตกต่างกันในเชิงการกำกับดูแล เนื่องจาก ไอพีทีวีถือเป็นบริการโทรทัศน์ที่ต้องขออนุญาต ในขณะที่โอทีทีเป็นบริการเนื้อหาออนไลน์ที่อยู่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย
"เราจะไม่พาดพิงคำพิพากษาของศาลฯ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับดูแลโอทีที คำถามคือการกำกับดูแลโอทีที ซึ่งเป็นวาระสำคัญ เพราะโอทีทีเติบโตขึ้นทุกวัน ดังนั้น การกำกับดูแลจะเริ่มกี่โมง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นการทำลายธุรกิจโทรทัศน์โดยตรง เพราะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 แล้ว แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนจากกสทช.เลยว่าจะเปิดประมูลนรอบใหม่หรือไม่ สวนทางกับธุรกิจโอทีทีที่มันโตขึ้น ดึงเม็ดเงินมหาศาลจากเอเจนซี่โฆษณาไป"
นอกจากนี้ ยังมองว่า เมื่อไม่มีเงินโฆษณาเข้ามาในระบบอีโคซิสเต็มส์ของคนในอุตสาหกรรมทีวี คอนเทนท์ที่ดีอยู่ตรงไหน คอนเทนท์ดีๆในอดีตมีต้นทุน ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นหน้าจอทีวีทุกวันนี้ ผู้ชมก็บ่นว่าคือคอนเทนต์ขยะ ผู้ประกอบการทีวีก็เฝ้ารอว่าจะได้ประมูล หรือจะได้ต่อใบอนุญาตหรือไม่ สิ่งที่เราได้เห็นในอุตสาหกรรมคือการปลดคน ลดคน เลย์ออฟ ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก