เดินหน้าเต็มกำลัง! ปากคำผู้นำ ‘Klook’ กับภารกิจพลิกโฉมการท่องเที่ยวยุค AI

เปิดใจสองผู้บริหาร "Klook" จากวันแรกจนวันนี้สู่ภารกิจพลิกโฉมการท่องเที่ยวออนไลน์ ก้าวต่อไปยังยุค AI ในฐานะแอปจองประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มาแรงสุดของคนรุ่นใหม่
KEY
POINTS
- 10 ปีแรกของ Klook เติบโตไปพร้อมกับกระแสที่เปลี่ยนจากออฟไลน์ไปสู่ระบบออนไลน์ และตอนนี้ Klook กลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกำลังขยายไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ
- ในไทย Klook ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศไทยมาหลายปี และจัดงานที่กรุงเทพฯ โดยเชื่อมโยงครีเอเตอร์กับธุรกิจในท้องถิ่น เช่น เรือสำราญและสปา เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
- Generative AI เป็นเครื่องมือที่ Klook กำลังมุ่งเน้นการลงทุน โดยการใช้ AI ในอนาคตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงาน ตัวอย่างเช่นการใช้ AI เพื่อแปลภาษา ทำให้ให้บริการลูกค้าในหลากหลายภาษาพร้อมกันได้
ในยุคนี้ที่ทุกสิ่งปุบปับฉับไว Klook ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการจองประสบการณ์การท่องเที่ยวออนไลน์ของโลก ที่กำลังเป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังแสวงหาประสบการณ์ใหม่บนความคุ้มค่าและสะดวกสบาย
กรุงเทพธุรกิจไอที ได้พูดคุยกับสองผู้บริหารของ Klook ทั้ง วิลเฟร็ด ฟาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพาณิชย์ Klook และ เอริค น็อก ฟาห์ ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง Klook และนี่คือมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในวงการท่องเที่ยว พร้อมกับทิศทางที่ Klook กำลังมุ่งหน้าไป
ถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 2000-2005 การจองโรงแรมออนไลน์ยังต้องใช้วิธี “ขอจอง” ซึ่งต้องรอถึง 24 ชั่วโมงกว่าจะได้รับการยืนยัน วิลเฟร็ดเล่าว่าเพียงไม่กี่ปีถัดมา ผู้บริโภคเริ่มรอไม่ได้อีกต่อไป การจองแบบยืนยันทันทีจึงเข้ามาแทนที่ และใช้เวลาถึง 5 ปีจนกระทั่งทั้งอุตสาหกรรมโรงแรมและการบินปรับตัวเป็นระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ
“หลังจากปี 2010 ทุกอย่างเกี่ยวกับการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมกลายเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด แต่บริการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น การเช่ารถ ทัวร์ หรือสวนสนุก ยังคงเป็นออฟไลน์” วิลเฟร็ด กล่าว
การกำเนิดของ Klook ในยุคที่ถูกต้อง
วิลเฟร็ด ฟาน กล่าวถึงการพบกับผู้ร่วมก่อตั้ง Klook อย่าง อีธาน ลิน และ เอริค น็อก ฟาห์ ในปี 2014 ซึ่งขณะนั้น Klook เพิ่งเริ่มต้นทำแพลตฟอร์มจองประสบการณ์การท่องเที่ยวออนไลน์ วิลเฟร็ดเห็นว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากยังไม่มีใครในเอเชียที่นำการท่องเที่ยวประสบการณ์มาให้บริการในรูปแบบดิจิทัล
“10 ปีแรกของ Klook เติบโตไปพร้อมกับกระแสที่เปลี่ยนจากออฟไลน์ไปสู่ระบบออนไลน์ และตอนนี้ Klook กลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกำลังขยายไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ” วิลเฟร็ดกล่าว
โควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
หลังการระบาดของโควิด-19 ผู้คนหันมาใช้โซเชียลมีเดีย เช่น TikTok และ Instagram มากขึ้นเพื่อหาไอเดียในการเดินทาง “คนเริ่มค้นหาข้อมูลจากที่บ้านมากขึ้น ผ่านทั้งโซเชียลมีเดียและการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Google”
แม้ว่า Klook จะมีบริการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่เขาก็เน้นว่าจุดโฟกัสหลักยังคงเป็นการเดินทางระหว่างประเทศ
การจับมือกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และการขยายตัวในไทย
Klook ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผ่านโซเชียลมีเดีย “เราพาครีเอเตอร์ไปที่เซ็นโตซ่า ให้พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษ และสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นความสนใจจากผู้บริโภคผ่านคอนเทนต์” วิลเฟร็ดอธิบาย
สำหรับตลาดในไทย Klook ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศไทยมาหลายปี และจัดงานที่กรุงเทพฯ โดยเชื่อมโยงครีเอเตอร์กับธุรกิจในท้องถิ่น เช่น เรือสำราญและสปา เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
Klook ยังคงมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านการจองประสบการณ์การท่องเที่ยวออนไลน์ พร้อมนำผู้บริโภคและคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาร่วมสร้างสรรค์การเดินทางในแบบใหม่ที่น่าตื่นเต้น
Klook กับ AI: เปลี่ยนโฉมธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี
ปัจจุบัน Klook ได้นำ AI เข้ามาปรับใช้ในองค์กร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ทั้งพนักงานและลูกค้า เอริค น็อก ฟาห์ ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง Klook กล่าวว่า AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท และจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการค้นหาบริการท่องเที่ยวในอนาคต
เอริคได้อธิบายถึง AI สองประเภทที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่างแรกคือ AI สำหรับการแนะนำและการปรับแต่ง ซึ่งมีมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น ระบบแนะนำวิดีโอใน TikTok หรือฟังก์ชันการปรับแต่งสินค้าบนแพลตฟอร์ม e-commerce ทั้งหลาย AI นี้ทำให้ผู้ใช้งานเจอกับสิ่งที่ตรงใจได้ง่ายขึ้น
แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่านั้นคือ Generative AI ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ Klook กำลังมุ่งเน้นการลงทุน เอริคมองว่าการใช้ AI ในอนาคตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงาน ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้ AI เพื่อแปลภาษา ทำให้ให้บริการลูกค้าในหลากหลายภาษาพร้อมกันได้ นอกจากนี้ AI ยังจะเข้ามาช่วยในงานบริการลูกค้า ทำให้ตอบสนองต่อคำถามและความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละราย
ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง Klook คนนี้ยังเล่าให้ฟังถึงแผนการของ Klook ในการใช้ AI เพื่อทำให้ลูกค้าค้นหาสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแชทกับแชตบอทที่เข้าใจความต้องการและแนะนำสินค้าได้ตรงใจ โดยไม่ต้องผ่านการกรองข้อมูลที่ซับซ้อน ซึ่งเขาเชื่อว่า AI จะเปลี่ยนโฉมการชอปปิงออนไลน์และธุรกิจท่องเที่ยวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
Klook ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตในตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านดนตรีและอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งที่โดดเด่นอยู่แล้ว เอริคเปิดเผยว่าบริษัทกำลังทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในวงการดนตรีเพื่อจัดเทศกาลดนตรี เช่น Wonderfruit และ EDC Thailand ซึ่งจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเขาชี้ว่าดนตรีมีพลังในการเชื่อมโยงผู้คนจากวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Klook ยังได้จับมือกับธุรกิจสปาชั้นนำในไทย เช่น Let’s Relax เพื่อยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวของลูกค้า
เอริคมองว่าในอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและความหลากหลายของประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไทยมีให้ เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
Klook จะยังคงพัฒนา AI เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า และเป้าหมายของบริษัทคือการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับพันธมิตรทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และพาธุรกิจไปสู่อนาคตที่สดใส