'แคสเปอร์สกี้' เผย ปี 66 การโจมตีบนโมบายเพิ่มขึ้น 52%

'แคสเปอร์สกี้' เผย ปี 66 การโจมตีบนโมบายเพิ่มขึ้น 52%

“แคสเปอร์สกี้” รายงานว่า ปี 2566 ตรวจพบการโจมตีบนโมบายดีไวซ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 33.8 ล้านครั้ง หรือ เกือบ 52% จากตัวเลขในปีที่ 2565 ที่มีการโจมตี 22.2 ล้านครั้ง

ภัยคุกคามต่อโมบายดีไวซ์ที่แพร่หลายที่สุดคือ แอดแวร์ (adware) ซึ่งคิดเป็น 40.8% ของภัยคุกคามทั้งหมดที่ตรวจพบ

แอนทอน คิฟวา ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของโมบาย แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยบนมือถือที่แพร่หลายมากขึ้น ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของเครื่องมือและเทคโนโลยีบนมือถือที่เป็นอันตราย

รายงานการวิเคราะห์ประจำปีเกี่ยวกับภาพรวมภัยคุกคามบนโมบายดีไวซ์ ของ แคสเปอร์สกี้ ระบุว่า การโจมตีที่กำหนดเป้าหมายไปที่โมบายดีไวซ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 เพียงปีเดียว จำนวนการโจมตีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 33,790,599 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกือบ 52% เมื่อเทียบกับ

สำหรับ แอดแวร์ (adware) ซึ่งเป็นภัยไซเบอร์ที่แพร่หลายที่สุด เป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งที่แสดงโฆษณาแบบ pop-up ที่ไม่พึงประสงค์ และบางครั้งก็น่ารำคาญ คิดเป็น 40.8% ของภัยคุกคามทั้งหมดที่ตรวจพบ 

นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีโดยแบงกิ้งโทรจัน (banking Trojan) มัลแวร์โมบายแบงเกอร์ (mobile banker) บนมือถือ โดยอาชญากรไซเบอร์มักแพร่กระจายภัยคุกคามบนมือถือผ่านร้านค้า App Store ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้สังเกตเห็นด้วยว่า แอปพลิเคชันที่เป็นอันตรายจำนวนมากแทรกซึมอยู่ใน Google Play หนึ่งในการปลอมแปลงที่พบบ่อยที่สุดในปี 2566 คือแอปลงทุนปลอมที่ใช้กลยุทธ์วิศวกรรมสังคมเพื่อดึงข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้

โดยหลักๆ คือหมายเลขโทรศัพท์และชื่อนามสกุลเต็ม ซึ่งต่อมาถูกเพิ่มลงในฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับการฉ้อโกงทางโทรศัพท์ เวกเตอร์การโจมตีที่แพร่หลายอีกประการหนึ่งที่ตรวจพบคือม็อด WhatsApp และ Telegram ที่เป็นอันตราย ซึ่งออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลผู้ใช้โดยเฉพาะ

  โดยสรุปแล้ว การเพิ่มขึ้นของมัลแวร์แอนดรอยด์และกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายตลอดปี 2566 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล ตอกย้ำถึงภัยคุกคามที่สำคัญที่ผู้ใช้ต้องเผชิญ

ขณะเดียวกัน เป็นการเตือนผู้ใช้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการระมัดระวังและการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เคล็ดลับป้องกันตัวจากภัยคุกคาม

แคสเปอร์สกี้แนะนำแนวทางป้องกันตัวจากภัยคุกคามบนมือถือ ดังนี้

  • ดาวน์โหลดแอปจากร้านค้าอย่างเป็นทางการเท่านั้นจะปลอดภัยกว่า เช่น Apple App Store, Google Play หรือ Amazon Appstore แม้ว่าแอปจากตลาดเหล่านี้ไม่ได้ปลอดภัย 100% แต่หากเกิดข้อผิดพลาด อย่างน้อยแอปเหล่านั้นก็ได้รับการตรวจสอบโดยตัวแทนร้านค้าและมีระบบกรอง เพราะไม่ใช่ทุกแอปที่สามารถเข้าสู่ร้านค้าเหล่านี้ได้
  • ตรวจสอบการอนุญาตของแอปที่ใช้และไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะให้อนุญาตแอป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการอนุญาตที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บริการการเข้าถึง หรือการอนุญาตให้แอปไฟฉายเข้าถึงกล้อง ซึ่งสิ่งเดียวที่แอปไฟฉายต้องการคือการใช้ไฟฉายเท่านั้น
  • อย่าลืมติดตั้งโซลูชันการรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ที่จะช่วยให้ตรวจจับแอปและแอดแวร์ที่เป็นอันตรายก่อนมัลแวร์จะเริ่มทำงาน
  • สิ่งสำคัญคือ อัปเดตระบบปฏิบัติการและแอปที่สำคัญเมื่อมีการอัปเดตทุกครั้ง เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยหลายประการสามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์เวอร์ชันอัปเดต