เปิดรายงานจวกกสทช. ละเลยปฏิบัติหน้าที่ปล่อยทรูควบดีแทค-เอไอเอสควบ3บีบี

เปิดรายงานจวกกสทช. ละเลยปฏิบัติหน้าที่ปล่อยทรูควบดีแทค-เอไอเอสควบ3บีบี

สภาผู้บริโภคฯซัดกสทช.เกียร์ว่าง ไม่คุ้มครองผู้บริโภค เหตุเปิดทางควบรวมค่ายมือถือ-เน็ตบ้าน สร้างผลกระทบต่อประชาชน เปิดผลโหวต 81% เจอปัญหาเน็ตช้า ร้องรัฐบาล-ปปช.ตรวจสอบการทำงานในแง่การกระทำที่มิชอบ หรือ ละเลยการกระทำที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

KEY

POINTS

  • 1 มี.ค.2567 ครบรอบ 1 ปี ที่ทรู และดีแทค ควบรวมเป็นบริษัทใหม่เสร็จสมบูรณ์ 
  • ลดค่าโทร 12% หลังควบรวมไม่มีอยู่จริง 81% สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับเน็ตช้าลง
  • ปล่อยเอไอเอสควบ3บีบีไม่ได้ดูสภาพการณ์ที่จะเกิดการผูกขาด
  • เตรียมส่งรายงานฉบับเต็มให้รัฐบาล กมธ. กระทรวงดีอี และ ป.ป.ช. ฟันกสทช.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

สภาผู้บริโภคฯซัดกสทช.เกียร์ว่าง ไม่คุ้มครองผู้บริโภค เหตุเปิดทางควบรวมค่ายมือถือ-เน็ตบ้าน สร้างผลกระทบต่อประชาชน เปิดผลโหวต 81% เจอปัญหาเน็ตช้า ร้องรัฐบาล-ปปช.ตรวจสอบการทำงานในแง่การกระทำที่มิชอบ หรือ ละเลยการกระทำที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ) ที่สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดให้มีการเปิดเผย รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และสำนักงาน กสทช. อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมจากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.มีมติรวมธุรกิจโทรคมนาคม 2 กรณี ซึ่งกรณีแรก การควบรวมกิจการค่ายมือถือ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

โดยในวันนี้ (1 มีนาคม 2567) ครบรอบ 1 ปี ที่ทรูและดีแทค ได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการในชื่อหลังตฃควบรวม “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

และกรณีที่สองควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กับ บริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคในหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก

เปิดรายงานจวกกสทช. ละเลยปฏิบัติหน้าที่ปล่อยทรูควบดีแทค-เอไอเอสควบ3บีบี

กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค แถลงชี้ว่า กสทช. ได้กระทำการละเลยการทำหน้าที่จาก 2 กรณีข้างต้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทำหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดแย้งกัน เพราะลงมติควบรวมทรูดีแทคด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 กสทช. ดำเนินการลักษณะ “รับทราบ” แต่กรณี เอไอเอสควบ3บีบี ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เป็นการ “อนุญาต” ซึ่งถือเป็นประเด็นแรกที่ชี้ให้เห็นความผิดปกติ ประเด็นต่อมานั่นคือ การที่กรรมการ กสทช. ลงมติควบรวมทรู-ดีแทค ด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 (รับทราบ 3, ไม่อนุญาต 2 งดออกเสียง 1) 

โดยมีการสรุปว่า คณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง“รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมี 1 คะแนนเสียง “งดออกเสียง” มติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกล่าวอ้างถึงคะแนนเสียงครั้งแรกที่มีผล 2:2:1 ว่าเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากัน ถือเป็นโมฆะไปแล้ว ด้วยเหตุที่ไม่มีผลโหวตที่เป็นเสียงข้างมาก และเนื่องจากมติก็ไม่ได้มีผลเท่ากับกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดห้าคน ประธานจะโหวตจึงซ้ำไม่ได้ การโหวต “รับทราบ” ซ้ำของประธานจึงเห็นได้ว่าเป็นเจตนาอนุญาตให้เกิดการควบรวมโดยไม่ต้องขออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญติ

และแม้จะมีเสียงทักท้วง และมีการวินิจฉัยจากศาลปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุกรรมการทุกชุดที่ กสทช. ตั้งขึ้นมา หรือแม้แต่ อนุกรรมการด้านกฎหมาย ก็เห็นตรงกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กสทช. มีอํานาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ดังนั้น การที่ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาด อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้ายได้ และผลการลงมติดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 41 (2) เนื่องจากเป็นการประชุมที่ต้องได้รับมติพิเศษ คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป และต้องมีการลงมติใหม่ 

ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ลดราคา 12% ต่อโปรไม่มีจริง

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังชี้ให้เห็นประเด็นที่ 3 กรณี กสทช. ออกมาตรการบังคับหลังควบรวมทรู-ดีแทคจน ถึงวันนี้ครบหนึ่งปีพอดี โดยให้ค่ายมือถือต้องลดราคาเฉลี่ย12% แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับ คือปัญหาค่าบริการแพงขึ้นกว่าเดิม แถมฝ่ายผู้ประกอบการยังเอาตัวเลขแพ็กเกจที่ไม่มีผู้ใช้บริการจริง เช่น ซิมฟรีมาอ้างอิงว่ามีการลดราคาเฉลี่ย 12% ซึ่งตามเงื่อนไข ของ กสทช. ต้องลดลง 12%ภายใน 90 วัน หลังควบรวมกิจการ อีกทั้งไม่ยอมส่งหลักฐานให้ผู้บริโภคได้เข้าไปตรวจสอบ

ปัญหาการควบทรู-ดีแทค ยังสร้างผลกระทบอีกหลายด้าน ซึ่งมีข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ร่วมกันทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนผ่าน GOOGLE FORM ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย 

โดยผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า ,สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก ทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการมือถือที่ล้วนได้รับผลกระทบ

แต่ปัญหาของผู้บริโภคที่เดือดร้อน กลับไม่ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาจาก กสทช. ที่สำคัญผลกระทบยังส่งไปถึงผู้พิการและบุคคลชายขอบที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตถือเป็นการรอนสิทธิประชาชน รวมถึง บริการแพ็กเกจราคาพิเศษที่ไม่มีอีกต่อไป และที่เห็นชัดเจนอีกอย่างนั่นคือ ไม่มีการแข่งขันกันด้านราคาเพราะแพงเท่ากันหมดทุกค่ายมือถือ บั่นทอนการแข่งขัน

ปม3บีบี-เอไอเอสเกิดสภาพผูกขาด

ส่วนกรณี 3บีบีกับเอไอเอส ที่กสทช.มีมติเสียงข้างมาก 5:2 “ อนุญาต"ให้ควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน นั่นเท่ากับว่า กสทช. ทำเป็นลืมเรื่องที่เคย "รับทราบ"ให้ควบรวมอินเทอร์เน็ตมือถือไปก่อนหน้าแล้ว แต่กลับมาทำเรื่องซ้ำซ้อนโดยไม่ได้ดูสภาพการณ์ที่จะเกิดการผูกขาดจนส่งผลกระทบกับผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น ถูกเปลี่ยนแพ็กเกจอัตโนมัติ แต่สวนทางคุณภาพบริการที่ลดลง ซึ่งจนถึงขณะนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังไม่เห็นรายงานรับรองการประชุมของกสทช.เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ต้องมีกติกาเป็นเงื่อนไขกำกับดูแลผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น สภาองค์กรขงผู้บริโภคจะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไป

รวมถึงขอเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา อย่างน้อย 4 คณะ ขอให้สนับสนุนสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อช่วยกันตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ในแง่การกระทำที่มิชอบ หรือ ละเลยการกระทำที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

จี้กสทช.ต้องรายงานทุกๆ6เดือน

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะอดีตกรรมการ กสทช.ได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ควบรวมกิจการ ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ลดราคาค่าบริการหรือไม่อย่างไร ต้องสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญหลังการควบกิจการของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่สำคัญต้องเร่งรัดการลดราคาค่าบริการเฉลี่ย 12% ซึ่งเป็นกติกาที่กสทช.กำหนดเพื่อเปิดทางให้ทรูควบกิจการกับดีแทค ที่สำคัญนั่นคือ เงื่อนไขที่ว่า ต้องเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายทุกรายการ และเปิดเผยเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยโดยต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง อีกทั้ง กสทช.ต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของเอกชนอยู่เสมอ

แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ รัฐบาล ที่ต้องลงมากำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพราะนอกจากการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ยังเป็นการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติโดยรวมด้วย เพราะหากเกิดปัญหาเครือข่ายล่มในขณะที่มีผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้าในตลาดเท่ากับมีความเสี่ยงถึง 50 % เพราะฉะนั้นจึงขอเสนอให้เปิดทางรัฐวิสาหกิจมาเป็นผู้ประกอบการรายที่ 3 หรือ เปิดเสรีให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันกับเอกชนรายเดิม เพื่อส่งเสริมทางเลือกความมั่นคงปลอดภัยด้านกิจการโทรคมนาคมและประชาชนมีทางเลือกใช้บริการ ซึ่งทางออกมีหลายด้าน ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะมีเจตจำนงทางการเมือง (political will ) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยความจริงจังอย่างไร

สำหรับประเด็นข้างต้น สภาผู้บริโภค จะ เพื่อเปิดรายงาน กสทช. ละเลยหน้าที่ หรือไม่ และ จะส่งรายงานดังกล่าวไปยัง 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บอร์ดกสทช. สำนักงาน กสทช. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยแยกออกมาเฉพาะสำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และคณะกรรมมาธิการของสภาผู้แทนราษฏร 3 คณะและคณะกรรมมาธิการวุฒิสภา รวมไปถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ต่อไป