‘ซิสโก้’ เจาะอินไซต์พนักงานออฟฟิศ เมื่อสถานที่ทำงาน ‘ไม่ตอบโจทย์’ อีกต่อไป

‘ซิสโก้’ เจาะอินไซต์พนักงานออฟฟิศ เมื่อสถานที่ทำงาน ‘ไม่ตอบโจทย์’ อีกต่อไป

"ซิสโก้" เผย ความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนไป ทำให้องค์กรธุรกิจต้อง “พลิกโฉมพื้นที่ทำงาน” เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงานยุคใหม่...

Keypoints :

  • พนักงานเชื่อว่าออฟฟิศไม่ได้ช่วยให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • พื้นที่ทำงานในปัจจุบันยังไม่พร้อมสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่
  • ยุคของการทำงานแบบไฮบริด ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่สำนักงานและเทคโนโลยี

ผลการศึกษาล่าสุดโดย “ซิสโก้” เผยว่า แม้ว่าพนักงานในไทยส่วนใหญ่ยินดีที่จะกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ ทว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่าออฟฟิศไม่ตอบโจทย์การใช้งานตามวัตถุประสงค์ของตนอีกต่อไป

ผลการศึกษา “From Mandate to Magnet: The Race to Reimagine Workplaces and Workspaces for a Hybrid Future” ซึ่งได้ทำการตรวจสอบทัศนคติของพนักงานและนายจ้างเกี่ยวกับพื้นที่ทำงานหรือเวิร์กสเปซในปัจจุบัน พบว่า การออกแบบพื้นที่ทำงาน การจัดวางเลย์เอาต์ และเทคโนโลยียังไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลระบุว่า 66% ของบริษัทในไทยบังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศทั้งหมดหรือบางส่วน ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน การติดต่อสื่อสารภายในทีมงาน และแรงกดดันจากผู้บริหาร

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังมีความลังเล แต่พนักงานในไทย 8 ใน 10 คน (84%) ตอบสนองเชิงบวกต่อคำสั่งขององค์กร และ 94% แสดงความต้องการที่จะกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อยสองหรือสามครั้งต่อสัปดาห์

ข้อแม้ = สถานที่ต้องดีพอ

ซานดีฟ เมห์รา กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายด้านโซลูชั่นการทำงานร่วมกัน ซิสโก้ เอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน กล่าวว่า ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่า พนักงานในภูมิภาคนี้เปิดรับการทำงานในรูปแบบไฮบริดและเต็มใจที่จะกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศบ่อยขึ้น

แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าพื้นที่ทำงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความต้องการและความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงาน  

“ยุคของการทำงานแบบไฮบริด เราต้องให้ความสำคัญกับวิวัฒนาการของพื้นที่สำนักงานและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน โดยเทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราตอบสนองความคาดหวัง พร้อมทั้งส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ใดก็ตาม”

โดยสรุปแล้วแม้ว่าจะมีการตอบรับที่ดีเกี่ยวกับการกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ แต่แรงจูงใจของพนักงานก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

เนื่องจากเหตุผลหลักที่พวกเขากลับเข้าออฟฟิศไม่ใช่เพื่อการทำงานส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นทีม (82%) การระดมความคิดและคิดค้นไอเดียกับเพื่อนร่วมงาน (70%) และการส่งเสริมความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (52%)

พื้นที่ทำงานไม่ตอบโจทย์

ซิสโก้ระบุว่า พนักงานในไทย 48% เชื่อว่าออฟฟิศของพวกเขาไม่ตอบโจทย์การใช้งานและไม่ได้ช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่จริงแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องเลย์เอาต์ของออฟฟิศและการจัดที่นั่ง พนักงาน 82% รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันและการระดมความคิดขณะที่มีการให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันมากขึ้น ขณะนี้ 87% ของนายจ้างยังคงจัดสรรพื้นที่ออฟฟิศอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้เป็นพื้นที่ทำงานส่วนตัวของพนักงานแต่ละคน

ที่น่าสนใจพบว่า พื้นที่ทำงานในปัจจุบันยังไม่พร้อมสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่ โดยพนักงานรู้สึกว่าเวิร์กสเตชั่นส่วนบุคคล (54%) ห้องประชุมขนาดใหญ่ (56%) และห้องประชุมขนาดเล็ก (70%) ไม่ได้ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานในออฟฟิศ หรืออย่างมากก็ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและการบูรณาการก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลเช่นกัน กล่าวคือ ห้องประชุมภายในองค์กรไม่ได้ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานในออฟฟิศมากเท่าที่ควร

สาเหตุหลักคือ มีอุปกรณ์ด้านระบบเสียงและวิดีโอไม่เพียงพอ (75%) ประสบการณ์ด้านภาพและเสียงมีคุณภาพต่ำ (42%) ไม่มีอุปกรณ์ด้านระบบเสียงและวิดีโอที่รองรับการใช้งานสำหรับทุกคน (33%) รวมถึงความไม่สอดคล้องกันของประสบการณ์สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมระยะไกลและผู้เข้าร่วมประชุมในออฟฟิศ

พลิกโฉมสู่ ‘ไฮบริด เวิร์กสเปซ’

เมื่อมองในแง่บวก ผลสำรวจพบว่า องค์กรต่างๆ มีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานของตน โดยนายจ้าง 9 ใน 10 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงแล้วหลังการแพร่ระบาด และ 90% มีแผนที่จะดำเนินการดังกล่าวในสองปีข้างหน้า

โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้แก่ การปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (67%) การตอบสนองต่อความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับพื้นที่ทำงาน (70%) และการรองรับการทำงานแบบไฮบริดที่ดียิ่งขึ้น (51%)

กล่าวได้ว่า ความก้าวหน้าของนายจ้างในการปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานร่วมกันเพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริดนับเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่การจัดหาเครื่องมือเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองไม่มีความพร้อมที่จะใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีพนักงานเพียง 38% เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมที่จะใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และเพียง 26% รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่ก้าวล้ำ เช่น ระบบตรวจสอบฟุตพรินต์ หรือโปรแกรมผู้ช่วยอัจฉริยะสำหรับห้องประชุม

รายงานการศึกษานี้อ้างอิงมาจากการสำรวจความคิดเห็นพนักงานประจำกว่า 9,200 คน และนายจ้าง 1,650 คน โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนพ.ย. 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ใน 7 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้