‘การ์ทเนอร์’ คาดปี 67 ใช้จ่ายไอทีไทย ทะยานแตะ ‘1 ล้านล้านบาท’ ครั้งแรก

‘การ์ทเนอร์’ คาดปี 67 ใช้จ่ายไอทีไทย ทะยานแตะ ‘1 ล้านล้านบาท’ ครั้งแรก

"การ์ทเนอร์" คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทย จะสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก หรือเติบเพิ่มขึ้นราว 5.8% จากปี 2566

Keypoints : 

  • ปีนี้จะเป็นปีที่องค์กรหันมาลงทุน GenAI อย่างจริงจัง
  • โจทย์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มือองค์กร รับมือเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
  • การใช้จ่ายไอทีทั่วโลกจะเติบโต 6.8% มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์

การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 6.8% จากปี 2566 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์

ตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าว ลดลงจากไตรมาสก่อนที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 8% เพราะแม้ Generative AI (GenAI) จะได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2566 แต่ระยะสั้นยังไม่ส่งผลต่อการเติบโตของยอดการใช้จ่ายไอทีอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับประเทศไทย การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2567 มูลค่าการใช้จ่ายไอทีจะสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นราว 5.8% จากปี 2566 โดยกลุ่มซอฟต์แวร์จะมีมูลค่าการใช้จ่ายเติบโตสูงสุดและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 15.9%

จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ขณะที่ GenAI จะเปลี่ยนทุกอย่างไป แต่มันยังจะไม่ส่งผลกระทบไปถึงการใช้จ่ายไอทีอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีไอโอทีหรือบล็อกเชน รวมถึงเทรนด์สำคัญอื่นๆ ที่พบมา ทว่าในปีนี้จะเป็นปีที่องค์กรหันมาลงทุนเพื่อวางแผนและเรียนรู้วิธีใช้ GenAI อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้จ่ายไอทีจะยังเป็นการขับเคลื่อนผ่านปัจจัยเดิมอยู่ อาทิ ความสามารถด้านการทำกำไร ด้านแรงงาน และการถูกรั้งไว้จากความเหนื่อยล้าจากคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ซัดมาไม่หยุด

'บริการไอที' ทำยอดสูงสุด

ข้อมูลระบุว่า กลุ่มบริการด้านไอทีจะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 และมียอดใช้จ่ายสูงที่สุดเป็นครั้งแรก โดยในปี 2567 จะเติบโตขึ้น 8.7% และมีมูลค่าแตะ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่องค์กรมุ่งลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรและในโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้จะมีความสำคัญยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน

ที่ผ่านมา อัตราการใช้งานของผู้บริโภคในกลุ่มอุปกรณ์และกลุ่มบริการด้านการสื่อสารอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากว่าทศวรรษ รับแรงหนุนมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านราคาและวงจรการเปลี่ยนเครื่องใหม่เพื่อทดแทนเป็นหลัก ซึ่งไม่เหลือพื้นที่การเติบโต

ดังนั้นจึงถูกแซงหน้าด้วยกลุ่มซอฟต์แวร์และบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่องค์กรยังคงมุ่งแสวงหาการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ฝ่ายไอทีได้ย้ายจากการทำงานส่วนหลังบ้านมาอยู่ส่วนหน้าขององค์กร และการใช้จ่ายด้านไอทีขององค์กรจะไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะถึงขีดจำกัดว่าเทคโนโลยีจะสามารถนำไปใช้ในองค์กรได้อย่างไรและส่วนไหนบ้าง

แนวโน้มเติบโต แต่ยังต้องลุ้น

การ์ทเนอร์ให้ข้อมูลว่า ปี 2567 ในระดับโลกการใช้จ่ายในกลุ่มระบบดาต้าเซ็นเตอร์จะมีมูลค่า 261,332 ล้านดอลลาร์ เติบโต 7.5%, ดีไวซ์ 732,287 ล้านดอลลาร์ เติบโต 4.6%, ซอฟต์แวร์ 1,029,421 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12.7%, ไอทีเซอร์วิส 1,501,365 ล้านดอลลาร์ เติบโต 8.7%

ขณะที่ บริการโทรคมนาคม 1,473,314 ล้านดอลลาร์ เติบโต 2.3% ส่งผลให้โดยรวมมีการใช้จ่ายด้านไอทีกว่า 4,997,718 ล้านดอลลาร์ เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 4,678,847 ประมาณ 6.8%

ส่วนภาพรวมการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายไอทีปี 2566 อยู่ที่ 3.3% เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากปี 2565 แต่คาดว่าโมเมนตัมนี้จะกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 โดยเพิ่มขึ้น 6.8% ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าจะมีแรงหนุนที่ช่วยให้การใช้จ่ายไอทีกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของการใช้จ่ายที่เปิดกว้าง รวมถึงอีกหลายปัจจัยทำให้ยังมีข้อจำกัดและทำให้ซีไอโอเริ่มลังเลที่จะเซ็นสัญญาใหม่ๆ ไม่อาจให้คำมั่นในโครงการระยะยาว หรือเปิดรับพันธมิตรเทคโนโลยีรายใหม่ๆ เข้ามา

นอกจากนี้ สำหรับโครงการใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว บรรดาซีไอโอทั้งหลายตั้งเป้าที่จะลดระดับความเสี่ยงและได้ผลลัพธ์ที่แน่นอนมากขึ้น