‘ออมสบายได้บำนาญ‘ ทรูมันนี่ผนึกกอช.เปิดบริการออมเงินผ่านแอปฯ

‘ออมสบายได้บำนาญ‘ ทรูมันนี่ผนึกกอช.เปิดบริการออมเงินผ่านแอปฯ

ส่งเสริมกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีสวัสดิการ รองรับในวัยเกษียณ ชูจุดเด่นเปิดบัญชีใน 3 นาที เริ่มต้นเพียง 50 บาท วางเป้ายอดออมเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท และมีผู้ใช้รวม 1 ล้านบัญชีภายในสิ้นปี 2567

Key Point :

  • สมัครง่ายบนแอปทรูมันนี่ ใน 3 นาที เริ่มต้นแค่ 50 บาท ก็มีโอกาสรับเงินสมทบจาก รัฐสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 30,000 บาท
  • เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ออมสบาย ได้บำนาญแบบง่าย ๆ
  • ปัจจุบันกอช.มีฐานสมาชิกกว่า 2.58 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้บริการในรูปแบบผ่านหน่วยงานในพื้นที่สูงถึง 85%


นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำ ทรูมันนี่ ยึดมั่นพันธกิจในการช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายเพื่อมอบชีวิตที่ดีขึ้นผ่านทั้งบริการใช้จ่าย ออม และลงทุน โดยในปัจจุบันทรูมันนี่มีผู้ใช้งานกว่า 27 ล้านคนทั่วประเทศ และล่าสุดยังได้รับการจัดอันดับเป็นแอปพลิเคชั่นที่ได้รับการดาวน์โหลดมากสุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าแอปพลิเคชั่นทรูมันนี่ได้รับความนิยมสูงสุดและสามารถให้บริการทางการเงินครอบคลุมผู้ใช้หลากหลายกลุ่มอายุและอาชีพ ซึ่งรวมถึงแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงเกษตรกร ฯลฯ ความร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ในครั้งนี้ จะช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมแบบเดิมของแรงงานเหล่านี้ ให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการออมเพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ ด้วยบริการออมเงินกับ กอช. ผ่านแอปพลิเคชั่นทรูมันนี่

ทั้งนี้ ภายหลังเปิดทดลองให้บริการไม่ถึงสองเดือน มียอดออม กอช. ผ่านแอปทรูมันนี่แล้วประมาณ 4 ล้านบาท และเราคาดการณ์ว่ายอดออมดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท และมีผู้ใช้รวม 1 ล้านบัญชีภายในสิ้นปี 2567

‘ออมสบายได้บำนาญ‘ ทรูมันนี่ผนึกกอช.เปิดบริการออมเงินผ่านแอปฯ

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรกลุ่มคนวัยทำงานก็มีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุวัยเกษียณในอนาคตได้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวนี้ และได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดตั้งระบบการออมเงินภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระผ่านกอช.

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคงหลังวัยเกษียณอายุของคนไทย ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันในทุกกลุ่มอาชีพ และในฐานะตัวแทนจากภาครัฐ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ภาคเอกชนเช่น ทรูมันนี่ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินและแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนหลายกลุ่มและช่วงวัย เข้ามาร่วมเป็นภาคีผลักดันนโยบายส่งเสริมการออมของรัฐบาลให้เดินหน้า เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีและเป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดเผยว่า กอช. มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ มุ่งสร้างฐานการออม ขับเคลื่อนบำนาญภาคประชาชนอย่างทั่วถึงให้ประชาชนที่มีอายุ 15 - 60 ปี สามารถเริ่มออมตั้งแต่ 50 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีและรัฐสมทบสูงสุด 100% แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี

 *   อายุ 15 - 30 ปี รัฐสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี*

 *   อายุ 30 - 50 ปี รัฐสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี*

 *   อายุ 50 - 60 ปี รัฐสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี% แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี*

ทำให้ปัจจุบันกอช.มีฐานสมาชิกกว่า 2.58 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้บริการในรูปแบบผ่านหน่วยงานในพื้นที่สูงถึง 85% กอช. จึงมุ่งพัฒนาเพื่อยกระดับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถึงบริการในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน

ซึ่งจากสถิติภาพรวมการออมเงินเพื่อการเกษียณของคนไทยในปี พ.ศ. 2566 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการออมเงินเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการคลี่คลายลงของสถานการณ์โควิดรวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงานไทย โดยเห็นได้จากแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกและจำนวนเงินในระบบกองทุนการออมเพื่อการเกษียณต่าง ๆ ของคนไทย โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้การออมเงินเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมีปัจจัยสำคัญมาจากเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น