เปิดรายได้ ‘ลาซาด้า ประเทศไทย’ 3.8 หมื่นล้าน ยังกำไร แต่ตามหลัง 'ช้อปปี้'

เปิดรายได้ ‘ลาซาด้า ประเทศไทย’ 3.8 หมื่นล้าน ยังกำไร แต่ตามหลัง 'ช้อปปี้'

ลาซาด้า ไทย ยังเงียบ ท่ามกลางข่าว ‘สะพัดเลิกจ้าง’ เปิดรายได้ในไทยปี 65 รายได้ 20,675 ล้านบาท แต่หากรวมธุรกิจขนส่งจะอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้าน ด้านช้อปปี้ที่มีรายได้ทั้งกลุ่ม 4.3 หมื่นล้าน เฉพาะอีมาร์เก็ตเพลสกำไร 2.3 พันล้าน กูรูวิเคราะห์ 'อาลีบาบา' ไร้ 'แจ็ค หม่า ฉุดธุรกิจถดถอย

Key Points : 

  • เปิดรายได้ ลาซาด้า อีมาร์เก็ตเพลส โกย 2 หมื่นล้าน หากรวมธุรกิจขนส่ง ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส รายได้ทะลุ 3.8 หมื่นล้าน
  • ช้อปปี้ รายได้เหนือกว่า ลาซาด้า มีรายได้ทั้งกลุ่ม 4.3 หมื่นล้าน 
  • กูรู อีคอมเมิร์ซ มองปัญหาลาซาด้า เครืออาลีบาบา เมื่อไร้เงา 'แจ๊ค หม่า' ภาพรวมธุรกิจถดถอย 

ลาซาด้า ประเทศไทย ยังเงียบ ท่ามกลางข่าว ‘สะพัดเลิกจ้าง’ ตามรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทลาซาด้าในเครือของอาลีบาบาจากจีน ได้เริ่มปลดพนักงานรอบใหม่รับต้นปี 2567 รวมไทย  ขณะที่ เปิดรายได้ ลาซาด้า ประเทศไทย ปี 65 เฉพาะอีมาร์เก็ตเพลส กวาดรายได้ 20,675 ล้านบาท กำไร 413 ล้านบาท แต่เป็นรอง 'ช้อปปี้' 

ท่ามกลางข่าว สะพัด ‘เลิกจ้างพนักงาน’ บางส่วนของยักษ์อีคอมเมิร์ซ ลาซาด้าในเครืออาลีบาบา ซึ่ง ลาซาด้านับเป็น อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ในไทย ขณะที่  ลาซาด้า ประเทศไทย ยังคงเงียบ ไม่ชี้แจงใดๆ 

 

หากเข้าไปดูผลประกอบการของลาซาด้าเมื่อปี 2565 จากข้อมูลของ Creden data พบว่า ปี 2565 เฉพาะ ลาซาด้า อีมาร์เก็ตเพลส ยังคงกำไร กวาดรายได้ 20,675 ล้านบาท มีกำไรมากกว่า 413 ล้านบาท แต่ยังเป็นรอง ช้อปปี้ คู่แข่งที่ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 อีคอมเมิร์ซในไทย กวาดรายได้ 21,709 ล้านบาท กำไรพุ่งไปที่ 2,380 ล้านบาท

แต่ลาซาด้า หากรวมธุรกิจขนส่งรายได้ทั้งกลุ่มจะอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด มีรายได้รวม ปี 2566 อยู่ที่ 16,738 ล้านบาท กำไร 2,909 ล้านบาท

ขณะที่ ช้อปปี้ที่มีรายได้ทั้งกลุ่ม 4.3 หมื่นล้าน เฉพาะอีมาร์เก็ตเพลสกำไร 2.3 พันล้าน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทลาซาด้าในเครือของอาลีบาบาจากจีน ได้เริ่มปลดพนักงานรอบใหม่รับต้นปี 2567 แล้วในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะมีจำนวนหลายร้อยคน และกระทบกับทุกตลาดในอาเซียนครอบคลุม “สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม” โดยสิงคโปร์จะถูกเลิกจ้างมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงถึง 30%

 

ส่วนตำแหน่งงานที่ถูกเลิกจ้างครั้งนี้มีครอบคลุมไปทุกฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายคอมเมอร์เชียล ค้าปลีก และฝ่ายการตลาดด้วย โดยพนักงานจำนวนหนึ่งได้รับจดหมายเรียกคุยจากบริษัทแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ขณะที่ก่อนหน้านี้ลาซาด้าเพิ่งประกาศเลย์ออฟรอบล่าสุดไปเมื่อเดือน ต.ค. 2023 

ส่วนสาเหตุของการปรับลดพนักงานในครั้งนี้ โฆษกของลาซาด้าในสิงคโปร์ ระบุเบื้องต้นเพียงว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อวางตำแหน่งของตัวเองให้ดีขึ้น ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงปรับวิธีการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในอนาคต จึงจำเป็นต้องประเมินข้อกำหนดด้านบุคลากรและโครงสร้างการทำงานอีกครั้ง ทั้งนี้ ลาซาด้ากำลังเผชิญการแข่งขันอย่างหนักกับ “ชอปปี้” และ “ติ๊กต็อก” ซึ่งรายหลังเริ่มบุกธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น

วิเคราะห์เทรนด์ อีมาร์เก็ตเพลส

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซไทย วิเคราะห์ถึงเทรนด์ อีคอมเมิร์ซปีนี้ไว้ว่า สงครามอี-มาร์เก็ตเพลสกำลังจะจบลง ไม่ว่าลาซาด้า หรือ ช้อปปี้เริ่มเน้น Growth ใช้เงินลงทุนให้ตัวเองเติบโตปรับสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรชัดเจน เช่น ลาซาด้าปีนี้ และปีก่อนหน้าทำกำไรได้แล้ว เเละใช้เงินทำตลาดน้อยลง ขณะที่เริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เห็นจากเริ่มเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับเพิ่มค่าบริการ

ธุรกิจของลาซาด้าไม่อาจมองแค่บริการอี-มาร์เก็ตเพลส หากต้องมองฝั่ง ลาซาด้า เพย์, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรสหรือบริการดิจิทัลอื่นๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของลาซาด้าปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาทกำไรหลัก คือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส หรือบริการขนส่งนั่นเอง

ส่วนช้อปปี้ยังขาดทุนปี 2564 ช้อปปี้ขาดทุน 4,900 กว่าล้านบาท ขาดทุนสะสมติดต่อ 7 ปีธุรกิจหลักมีช้อปปี้ เอ็กซ์เพรสเมื่อมองภาพรวมธุรกิจช้อปปี้การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาท

"เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว ช้อปปี้มุ่งเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร แต่เมื่อดูข้อมูลช้อปปี้ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย เงินเฟ้อ ฯลฯมีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุนจึงเริ่มเน้นกลยุทธ์ทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไร

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัด คือมหกรรม 11.11ค่อนข้างซบเซา อีมาร์เก็ตเพลสใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมากสงครามของการใช้เงินถล่มกันเริ่มลดน้อยลง

“ที่สำคัญอีมาร์เก็ตเพลสไทย กลายเป็นสมรภูมิเเข่งขันต่างชาติเกือบ 100% แต่เรายังมีอี-มาร์เก็ตเพลสของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว”

อาลีบาบา ไร้ 'แจ็ค หม่า' ภาพรวมธุรกิจถอย 

นายภาวุธ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่า หลังจาก Jack Ma ออกจาก Alibaba ไป ภาพรวมของธุรกิจก็ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด (จิตวิญญาณขององค์กรหายไป) รวมถึงการเข้ามาล้วงลูก และสกัดของรัฐบาลจีน ทำให้ Alibaba สูญเสียโฟกัสไปมาก…

ดังนั้นการลดคน และปรับโครงสร้างองค์กร การปรับทัพใหม่ของ Lazada  เป็นสัญญาณ ของการเตรียมสู้กลับ กับอีคอมเมิร์ซ เจ้าอื่นในท้องถิ่น (Shopee, TikTok และเจ้าอื่นๆ ที่กำลังจะเข้ามาอย่าง Temu) อย่างเต็มที่…

ซึ่งหากจะสู้กลับ อย่างแรกต้องทำคือ 1. องค์กรต้องลดไขมันให้ลีน (Lean) เสียก่อน เพราะเป็นธรรมดาขององค์กรที่ใหญ่ และคนเยอะมากๆ ทุกอย่างมันจะช้าลง… และปรับแนวคิดให้กลับไปทำงานรวดเร็วแบบเดิม การปรับเปลี่ยน “ผู้นำ” องค์กรในแต่ละประเทศจึงจำเป็นอย่างมาก

2. พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้ออกมาแข่งขันกับตลาดได้ (ตอนนี้ตลาดไปทาง Live Commerce แล้ว Lazada เพิ่งเริ่มเปิดตัวไม่นานนี้เอง ตามหลังชาวบ้าน)

3. สร้าง Synergy กับบริษัทในกลุ่มที่ตรงนี้ถือว่า Alibaba มีความได้เปรียบมากกว่าทุกเจ้า เพราะตัวเองมีทั้งรูปแบบการขาย E-Commerce ทุกรูปแบบ B2B, B2C, C2C รวมไปถึง Infrastructure อย่าง Cloud Platform, Payment, Logistic ที่โคตรแข็งแรง… (แต่ที่จีน ถูกรัฐบาลจีนสั่งแยกบริษัทเรียบร้อยแล้ว) แต่ก็ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งหลายๆ ตัวได้ขยายออกมานอกประเทศแล้ว

การปรับตัวครั้งนี้ของลาซาด้า น่าจะกินเวลาไม่น่าเกินไตรมาส 1-2 และทุกอย่างน่าจะกลับมาเข้าสู่อัตราเร่งที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้….