ต้นทุนสู่อนาคต

ต้นทุนสู่อนาคต

สังคมในปัจจุบันเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่แสวงหาความสำเร็จได้ง่ายกว่าในอดีต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและเอื้อให้ทุกคนมีโอกาสสร้างความสำเร็จในแนวทางของตัวเองได้ ทำให้เราเห็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่อายุยังน้อยเพิ่มขึ้นทุกปี

แม้ว่าโอกาสนี้จะมีให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่เราก็มักจะได้ยินเสียงตัดพ้อว่าคนอื่นสำเร็จได้นั้นก็เพราะเขามี “ต้นทุน” ที่ดีกว่าตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านฐานะความเป็นอยู่ ที่ทำให้มีเงินลงทุนได้มากกว่า หรือจะเป็นต้นทุนด้านครอบครัว ที่มาจากครอบครัวนักธุรกิจ ทำให้มีเครือข่ายเกื้อหนุนให้เริ่มธุรกิจได้ง่ายกว่า

รวมไปถึง เป็นสตาร์ตอัปที่มีไอเดียสดใหม่ ทำให้เริ่มต้นได้เร็วกว่ามาก บางคนเป็นยูทูบเบอร์ที่มีคนติดตามหลายล้านคน ก็ทำให้ขายของได้ง่ายกว่าคนธรรมดาๆ ที่ไม่รู้จะขายของให้กับใคร ฯลฯ เมื่อเทียบแบบนี้แล้วก็เลยรู้สึกว่าตัวเองมีต้นทุนที่สู้เขาไม่ได้ จึงมีโอกาสยากกว่า

แล้วอะไรคือ ต้นทุนที่ทำให้แต่ละคนมีโอกาสไม่เท่าเทียมกัน? หากลองเรียบเรียงดูก็จะพบว่าสิ่งที่อาจเป็นต้นทุนในชีวิตของแต่ละคนนั้นมีเพียง 7 ข้อด้วยกัน โดยเริ่มจากสิ่งที่คนเราคุ้นเคยกันดีนั่นคือ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ ฐานะการเงิน และความมั่งคั่งนั่นเอง

ต้นทุนตัวแรกนี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบเสมอเพราะมันช่วยให้เกิดความได้เปรียบในทางธุรกิจได้จริง เพราะทรัพย์สินเงินทองไปจนถึงกิจการต่างๆ ที่สืบทอดมาจากวงศ์ตระกูลย่อมเป็นฐานสำคัญให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานได้ต่อยอดความสำเร็จในอนาคต

ต้นทุนลำดับที่ 2 ที่คนไม่ค่อยคนนึกถึงคือ ต้นทุนด้านภูมิปัญญา ที่เกิดจากความรู้ภายในตัวเองนับตั้งแต่สาขาวิชาที่เรียนจบมา และความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมที่ได้จากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ต้นทุนในด้านนี้จึงไม่ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิดแต่ขึ้นอยู่กับการใฝ่รู้ของแต่ละคน โดยการเรียนรู้แบบตลอดชีวิตที่ได้จากนอกห้องเรียนจะช่วยสร้างต้นทุนประเภทนี้ให้งอกเงยขึ้นมาได้ ซึ่งไม่เพียงเป็นความรู้รอบตัวที่เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง แต่เป็นทักษะที่เรานำมาต่อยอดให้กับธุรกิจของตัวเองได้ด้วย

ต้นทุนที่ 3 คือ ต้นทุนด้านสังคม ซึ่งไม่ได้มีแค่เครือข่ายธุรกิจครอบครัวแต่คนธรรมดาก็สามารถสร้างเครือข่ายทางสังคมของตัวเองได้เช่นกันผ่านทางกิจกรรมชมรม สมาคม และมูลนิธิต่างๆ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้เราสามารถใช้ความรู้ที่มีเข้าไปช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น เป็นการขยายเครือข่ายให้กว้างไกลมากขึ้น

ต้นทุนที่ 4 คือ ต้นทุนด้านศิลปวัฒนธรรมและรสนิยม โดยคนที่มีต้นทุนแบบนี้จะดึงดูดให้มีผู้คนเข้ามาพบปะด้วยบุคลิกภาพที่โดดเด่น หรือการพูดคุยที่น่าสนใจ และรอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างดีทั้งศิลปะ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์

ที่สำคัญคนที่มีต้นทุนแบบนี้มักจะรู้จักกาลเทศะ และการวางตัวที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกสบายใจ และอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเสมอ เพราะไม่เพียงได้ความรู้ใหม่ๆ แต่ยังรู้สึกผ่อนคลาย แม้ว่าจะต้องสนทนาในเรื่องปรัชญาที่เข้าใจยากก็ตาม

ต้นทุนที่ 5 คือ ทักษะทางภาษา ที่ต้องใช้ทั้งในด้านการสื่อสาร การนำเสนอ รวมถึงการอ่าน เพื่อวิเคราะห์และโต้ตอบ ทักษะทางภาษาที่ดีต้องรู้จักการใช้ภาษาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ฟังแต่ละกลุ่ม เช่น การพูดคุยกับกลุ่มแรงงานที่ไม่เหมือนกับกลุ่มผู้บริหาร

ต้นทุนที่ 6 คืนต้นทุนด้านสุขภาพ ที่นอกจากดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีจนมีร่างกายที่ดูดีสมส่วนแล้ว ยังต้องมีพละกำลังมากพอที่จะร่วมเล่นกีฬากับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ วิ่ง แบดมินตัน เทนนิส ฯลฯ เพื่อสร้างทั้งสุขภาพที่ดีและเครือข่ายได้ในเวลาเดียวกัน

ปิดท้ายด้วยต้นทุนที่ 7 คือ คิดบวกอยู่เสมอ เพราะการคิดบวกโดยปิดความคิดลบไปจากชีวิตจะช่วยทำให้เรามีความกระตือรือร้น และมีความคิดที่แปลกใหม่ และสร้างความแตกต่างให้กับตัวเราเองได้ และการคิดบวกย่อมทำให้เรามีจิตใจที่แจ่มใส สร้างพลังให้กับตัวเอง และคนรอบข้างได้ตลอดเวลา

สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ พวกเขามักมีต้นทุนทั้ง 7 ข้อหรืออาจมีเพียงบางข้อแต่พัฒนาจนโดดเด่นมาก เช่นเดียวกับตัวเราที่อาจมีบางข้อ และสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้เองในบ้างข้อ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นต้นทุนที่ทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในอนาคตได้ทั้งสิ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์