ดีป้ายิ้มร่า ‘ดีอี’ ป้อนงบเพิ่ม 500 ล้านบ. ดันอีสปอร์ตเชื่อมซอฟต์พาวเวอร์

ดีป้ายิ้มร่า ‘ดีอี’ ป้อนงบเพิ่ม 500 ล้านบ. ดันอีสปอร์ตเชื่อมซอฟต์พาวเวอร์

กำชับดีป้าใช้งบประมาณปี 67 อย่างคุ้มค่า ดันโครงการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ทั้งอุตสาหกรรมเกม อีสปอร์ต เชื่อมโยงซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เร่งต่อยอดโครงการชุมชนโดรนใจ สร้างสตาร์ทอัพและขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ ต่อเนื่อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงดีอีได้รับงบประมาณ 8,700 ล้านบาท โดยได้เพิ่มจากกรอบงบประมาณที่เคยได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงเติบโตขึ้นและมีภารกิจมากขึ้น มีหน่วยงานใหม่ ที่เพิ่งได้รับงบประมาณครั้งแรก คือ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และต้องมีกำลังคนทำงาน 80-150 คน

นอกจากนี้กระทรวงยังต้องเตรียมงบประมาณในการย้ายสถานที่ไปอยู่อาคารสร้างใหม่ภายในศูนย์ราชการช่วงเดือน ก.ค. 2567 นี้ อีกทั้งยังมีภารกิจในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ อย่างต่อเนื่อง จึงได้มอบงบประมาณเพิ่มเติมให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เพิ่ม 500 ล้านบาท

“งบประมาณที่เพิ่มขึ้น เราต้องใช้ให้ตรงภารกิจ ไม่ฟุ่มเฟือย กระทรวงโตขึ้น ภารกิจย่อมมีมากขึ้น เพื่อเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศไทย”

งบประมาณที่ให้ดีป้าเพิ่มขึ้นนั้น ตนได้กำชับให้ใช้ในภารกิจที่สำคัญ ซึ่งงบประมาณปี 67 และ ปี 68 มีเวลาใกล้กันมาก จึงได้สั่งการให้ ดีป้า ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแผนการดำเนินงานของกระทรวง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ รวมถึงอีสปอร์ต ซึ่งขอให้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

นอกจากนี้ยังขอให้เร่งต่อยอดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่เริ่มดำเนินการแล้วและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรและชุมชน ในส่วนของ Global Digital Talent Visa ที่บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรายละเอียดเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้ ดีป้า ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลของประเทศ โดยเฉพาะด้าน Coding, AI และ IoT

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า แนวทางการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีความเข้มแข็งและพร้อมก้าวสู่เวทีระดับโลก ขณะที่การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มุ่งเน้นไปที่เมืองรอง และให้ความสำคัญกับลักษณะของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ทั้ง 7 Smarts โดยเฉพาะ Smart Environment เพื่อให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน 

ดีป้ายิ้มร่า ‘ดีอี’ ป้อนงบเพิ่ม 500 ล้านบ. ดันอีสปอร์ตเชื่อมซอฟต์พาวเวอร์

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2568 กระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้ ดีป้า กระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการรับรองมาตรฐานสินค้าและบริการดิจิทัลของประเทศ หรือ dSURE (Digital Sure) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชน รวมถึง Thai QR Plus หรือตัวกลางการชำระค่าสินค้าและบริการในประเทศไทยด้วย QR Code เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 ดีป้าได้รับงบประมาณ 1,808 ล้านบาท โดยได้เพิ่มจากกระทรวง 500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณต่อเนื่องในการก่อสร้างตึกไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ 1,100 ล้านบาท ,งบประจำหน่วยงาน 300 กว่าล้านบาท ,โครงการเกมต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเกม 200 กว่าล้านบาท ,โครงการสมาร์ทซิตี้ 120 กว่าล้านบาท ในการต่อยอดสมาร์ทซิตี้เดิม คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ให้มีการใช้

“แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) เพื่อเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเมือง และการสร้างเมืองใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ตามแผน ,โครงการสร้างสตาร์ทอัพ 50 กว่าล้านบาท และโครงการเกษตรอัจฉริยะ 20 กว่าล้านบาท เป็นต้น