ปรับตัวรับพลังใหม่ (จบ)

ปรับตัวรับพลังใหม่ (จบ)

ทัศนคติที่ “คนรุ่นเก่า” มีต่อคน ‘ยุคมิลเลนเนี่ยม’ มีแนวโน้มเป็นเชิงลบเพราะช่องว่างระหว่างวัยของคนทั้ง 2 รุ่นนี้แตกต่างกันมาก

การจะเปลี่ยนความคิดของคนที่มีพื้นฐานการใช้ชีวิตแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง

การบ่นและตำหนิอุปนิสัยของคนรุ่นใหม่โดยไม่ทำความเข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงมีวิธีคิดที่แตกต่างจากเราจะทำให้องค์กรขาดพลังจากคนรุ่นใหม่ที่สามารถเข้ามาเติมเต็มให้กับธุรกิจในปัจจุบันได้ เพราะลูกค้ารายใหม่ที่มีบทบาทในในทุกวันนี้ก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน

เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารจึงต้องรู้จักเปลี่ยนวิธีคิด หาทางปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่และสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งคนที่มีลูกมีหลานให้เลี้ยงดูในทุกวันนี้ น่าจะพอเห็นว่า เราประคบประหงมเด็กๆ เพื่อให้เขาเติบโตไปอย่างมีคุณภาพที่สุด เด็กรุ่นใหม่ก็เช่นกันเพราะเขาล้วนเติบโตมาจากพ่อแม่ในรุ่น Gen X ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

ผู้บริหารรุ่นเก่าจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็กรุ่นใหม่กับพนักงานในอดีต เลิกบ่นว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อดทน ไม่ขยัน ไม่รักการเรียนรู้ ฯลฯ เหมือนพนักงานในยุคก่อน แต่ต้องหาทางใช้พลังจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้มากที่สุด โดยเริ่มต้นจากประการแรกคือให้เขามีส่วนร่วมกับงานที่ทำ ไม่ใช่สั่งงานแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต

เพราะคนยุคนี้เกิดมาด้วยทัศนคติว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง งานที่ให้เขาทำจึงต้องให้เขามองเห็นบทบาทของตัวเองว่ารับผิดชอบเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็ต้องเปิดกว้างพอที่จะให้โอกาสเขาได้ทำงานอย่างอิสระ

เด็กรุ่นใหม่สนใจแต่เป้าหมายโดยมักหาแนวทางในการทำงานที่เป็นของตัวเองโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ผู้บริหารจึงต้องเปลี่ยนจากการสั่งงานมาเป็นการแนะแนวทาง การให้คำปรึกษาเพื่อให้เขาไปถึงเป้าหมายที่ต้องการให้ได้

เมื่อเขารู้สึกว่าได้ออกแบบเส้นทางเป็นของตัวเองแล้ว เขาก็ย่อมมีส่วนร่วมกับงานอย่างเต็มที่และรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ทำ หากมีแนวโน้มจะหลุดจากเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องค่อย ๆ ปรับแก้และต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อน

ประการที่สอง คือ เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพราะเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้อาจต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ ที่คนรุ่นเก่าก็ไม่เคยเจอมาก่อน การเรียนรู้ไปด้วยกันจะเน้นที่การรับฟังแนวคิดของเขา ผู้บริหารจึงต้องเปลี่ยนบทบาทโดยเน้นการพูดให้น้อยลงแต่ฟังให้เยอะขึ้น เพื่อให้เกียรติคนรุ่นใหม่และให้เขารับรู้ว่าเป็นคนสำคัญในองค์กร

ประการสุดท้าย คือ การสื่อสารที่เน้นให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าขี้เกียจอธิบายเหมือนในอดีตที่สั่งอย่างเดียวซึ่งจะไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากการทำให้เขาเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงอย่างถ่องแท้แล้วอาจเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ จากเขาซึ่งอาจมีมุมมองใหม่ ๆ ช่วยให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นได้ด้วย

การบริหารเด็กรุ่นใหม่จึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเพราะต้องใช้ทักษะทั้งการเป็นผู้นำ การสื่อสาร การฟัง ฯลฯ เพราะคนรุ่นไม่ชอบการถูกสั่งงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยากทำงานกับคนที่เป็นเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ แนะนำชี้แนวทางให้เป็นหลัก

ผู้บริหารก็ต้องหาแนวทางในการใช้เหตุและผลสร้างเป็นอาวุธทางปัญญาในการสอนให้เขาแกร่งกล้ามากขึ้น และกลายเป็นขุนพลขององค์กรได้ในท้ายที่สุด