'ดีอี' รับลูกนายกฯสั่งกวาดล้างซิมผี-เร่งปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เด็ดขาด

'ดีอี' รับลูกนายกฯสั่งกวาดล้างซิมผี-เร่งปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เด็ดขาด

ประชุมเครียด “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หลังนายกฯ สั่งการเด็ดขาดจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตัดวงจรฉ้อโกงออนไลน์ คุยบุกจับรายใหญ่ได้ถึง 5 รายเงินหมุนเวียน 7 พันล้านบาท เอาจริง! คนถือครองซิมการ์ด 5 หมายเลขขึ้นไป ต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2566) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการมาที่กระทรวงดีอี เกี่ยวกับการใช้ซิมการ์ดและสถิติการถือครองซิมการ์ด โดยในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการหารือเรื่อง การออกประกาศเพื่อบังคับให้ผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ด ตั้งแต่ 5 เลขหมายขึ้นไป ต้องมาลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกับผู้ให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่าง ๆ โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย จำนวนมากถึง 286,148 ราย และมีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไปถึง 7,664 ราย ซึ่งดีอีได้หารือกับ กสทช. ไปเบื้องต้นแล้ว

ขณะที่ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC 1441 (สายด่วน 1441) ที่ได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยศูนย์ AOC 1441 สามารถระงับบัญชีธนาคารได้ถึง 4,856 รายการ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก ผลดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 – 21 พฤศจิกายน  2566 จำนวนสายที่รับจากประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 57,223 สาย แบ่งเป็น

1. ระงับบัญชีธนาคารของคนร้ายเนื่องจากถูกหลอกลวงออนไลน์ จำนวน 22,917 สาย

2. บัญชีธนาคารของตนเองถูกระงับ จำนวน 6,636 สาย

3. ปรึกษาคดีออนไลน์ จำนวน 27,670 สาย

ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินคดี ศูนย์ AOC 1441 ได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการจับกุมดำเนินคดีได้แล้ว จำนวน 203 คดี ตัวอย่างคดี ได้แก่การทลายเครือข่ายหลอกลวงกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยโหด พบเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท และการจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน โดยมีการจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 5 ราย พร้อมของกลางมูลค่า 83 ล้านบาท ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ตามลำดับ

ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี มีความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาโดยตลอด ในการเร่งดำเนินการขยายผลการจับกุม และทลายเครือข่ายบัญชีม้า/ซิมม้า โดยสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกถึงบัญชีในขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  

เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯขอเตือนประชาชนในเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมออนไลน์และขอความร่วมมือกับภาคธนาคารให้ดำเนินการอายัดรายชื่อบัญชีม้าทั้งหมดพร้อมทั้งเพิ่มกระบวนการในการตรวจสอบการเปิดบัญชีใหม่ของแก็งคอลเซ็นเตอร์ต่อไปด้วย

ด้านสถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 22 พฤศจิกายน 2566 สูงถึง 4,203 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 11 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นเว็บพนันออนไลน์สูงถึง 3,120 เว็บไซต์ และเตรียมทำเรื่องปิดกั้นอีกกว่า 10,000 เว็บไซต์

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่สำคัญการดำเนินการปิดกั้นหมายเลข/เสาสัญญาณ ดังนี้

สถิติการรายงาน SMS ข้อมูลระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2566

• รายงานโดย AWN มีจำนวน 2,179 เรื่อง

• รายงานโดย DTN มีจำนวน 688 เรื่อง

• รายงานโดย NT มีจำนวน 47 เรื่อง

• รายงานโดย TUC มีจำนวน 508 เรื่อง

สถิติการบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ตั้งสถานีแพร่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต

• จังหวัดสระแก้ว : ดำเนินคดี 1 คดี

• จังหวัดเชียงราย : ดำเนินคดี 11 คดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการเสนอจัดตั้งคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานปฏิบัติการเชิงรุก (ก่อนเกิดเหตุ) และคณะทำงานด้านเทคนิคการป้องกันปราบปราม เพื่อให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน มิจฉาชีพ และช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการฉ้อฉลและกลโกงผ่านออนไลน์ในทุกรูปแบบ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ดีอี ยังมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดทำ แผนบูรณาการประชาสัมพันธ์ภัยอาชญากรรมออนไลน์ใน 3 ด้านประกอบด้วย

1.เพื่อสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมากกว่า 5 ล้านคน มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยอาชญากรรมออนไลน์ รวมถึงรูปแบบและวิธีการป้องกันตนเองจากภัยอาชญากรรมออนไลน์ และวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อตกเป็นเหยื่อ และวางรากฐานความรู้สำคัญแก่ประชาชนในเรื่องของภัยอาชญากรรมออนไลน์

2. เพื่อควบคุมจำนวนผู้ได้รับความเสียหายจากภัยอาชญากรรมออนไลน์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึง และสามารถใช้ประโยชน์ เครื่องมือ และองค์ความรู้ในการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากภัยอาชญากรรมออนไลน์

3. เพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภัยอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีหน่วยงานผสานความร่วมมือ และแบ่งปันทรัพยากรในการป้องกันภัยสังคมจากภัยอาชญากรรมออนไลน์