‘บอร์ดกสทช.’ ทำสถิติประชุมใหม่ ลงมติงานรูทีนค้าง 39 วาระรวด

‘บอร์ดกสทช.’ ทำสถิติประชุมใหม่ ลงมติงานรูทีนค้าง 39 วาระรวด

บอร์ดกสทช.ประชุมวาระค้าง 90 เรื่อง ลงมติผ่านฉลุย 39 เรื่องรวด ส่วนประเด็นตั้ง 'ไตรรัตน์' นั่งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ตามที่มีกระแสข่าวแทรกวาระยังเงียบ แม้ศาลฯรับคำฟ้องโจทก์ยื่นร้องบอร์ด 4 คน ส่อหมดสิทธิยกมือโหวตเพราะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 พ.ย. 2566) ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ดกสทช. เข้าประชุมครบทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ พ.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ โดยเริ่มประชุมเวลา 10.00 น. และสิ้นสุดในเวลา 14.00 น. โดยที่ประชุมมีวาระค้าง 90 วาระ แต่วันนี้พิจารณาลงมติอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ไปทั้งหมด 39 วาระ

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวเสริมว่า  วาระสำคัญด้านกิจการโทรคมนาคม คือ การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเกี่ยวกับธุรกิจดาวเทียมของประเทศไทยในระดับสากล

เพื่อให้สามารถขอใบอนุญาตหลายไลเซ่นส์ได้ จากเดิมที่ให้ขออนุญาตทั้ง 3 บริการ ได้แก่ใบอนุญาตใช้ช่องสัญญาณ,ใบอนุญาตตั้งสถานีภาคพื้นดิน และใบอนุญาตนำสัญญาณให้บริการ

จากเดิมที่กำหนดให้เป็นบริษัทไทยเพียงรายเดียว เปลี่ยนมาให้เป็นหลายบริษัทตามความสามารถของแต่ละบริษัทที่เหมาะสม โดยหลังจากนี้จะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และคาดว่าจะออกประกาศแทนประกาศเดิมภายในต้นปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง 3 อนุกรรมการ คือ อนุกรรมการคลื่นความถี่ ,อนุกรรมการด้านดาวเทียม และอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านคลื่น 3500 MHz ที่ใช้อยู่ในกิจการดาวเทียม C-Band ให้สามารถนำมาใช้งานด้านโทรคมนาคม ได้ จากเดิมที่แต่ละคณะอนุกรรมการต่างคนต่างมองในมุมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิค ที่มองเพียงเรื่องการกันการ์ดแบนด์ 100 MHz เพื่อให้สัญญาณไม่กวนกัน ทำให้คลื่นโทรคมนาคมใช้ได้เพียง 200 MHz

 

ขณะที่ภาคโทรคมนาคม หรือ เศรษฐศาสตร์ ต้องดูเรื่องโมเดลการจัดสรรคลื่นความถี่ และราคาเริ่มต้นการประมูล เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้ ด้านผู้บริโภคก็มาร้องเรียนให้เยียวยา และไม่มีการสรุปว่าจานดาวเทียมยังเหลืออีกจำนวนเท่าไร และวงเงินในการเยียวยาต้องอยู่ที่เท่าไร ดังนั้นจึงมีการเพิ่มอนุกรรมการด้านผู้บริโภคเข้ามาเพื่อให้การทำงานบรูรณาการกัน

นางสาวพิรงรอง กล่าวเสริม ในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะมีการเสนอบอร์ดขออนุมัติแนวทาง (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (2566-2568) เพื่อจะเป็นการกำหนดภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ทั้งการกำหนดให้มี National OTT Platform (Linear TV/ On Demand/ Ad Management) และจะเร่งโครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงฯ หลังสิ้นสุดใบอนุญาต โดยมีการนำเอาโมเดลของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมาพิจารณา 

นอกจากนี้ ยังมีการต่ออายุให้กับคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินตามมาตรการเยียวยาของการควบรวมระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้มีนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นประธานอนุกรรมการฯ

จับตา ‘ไตรรัตน์’นั่งเลขาฯ 28 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมบอร์ดกสทช.วันนี้ ยังต้องจับตามองในประเด็นการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ คือนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล หลังจากที่นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.มีความพยายามจะนำชื่อเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อลงมติอนุมัติ หลังจากที่ศาลอาญาทุจริต รับฟ้อง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้สมัครเป็นเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ 1 ศาสตราจารย์ นางสาวพิรงรอง รามสูต ที่ 2 รองศาสตราจารย์ นายศุภัช ศุภชลาศัย ที่ 3 นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ที่ 4 และ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ ที่ 5 เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566

ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 สืบเนื่องจาก การตรวจสอบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ เปลี่ยนรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทนตัวเอง โดยมิชอบตามปกติการทำหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการให้การทำงานภายในกสทช. เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเป็นหน้าที่ บอร์ดกสทช. อยู่แล้ว เพราะมีเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ แม้ กสทช.จะสนับสนุนเงินไป ที่ กกท.

แต่ด้วยเหตุใด โจทก์ จึงมาฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและ โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อไต่สวนก่อน แต่ประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเองที่ศาลอาญาทุจริต เพราะกระบวนการในศาลอาญาทุจริตนั้น ผู้ถูกกล่าวหายังไม่สามารถจะให้ถ้อยคำหรือเข้ามาชี้แจงใดๆได้ จะเป็นเรื่องที่ศาลฯ จะสอบถามประเด็นและตรวจฟ้องกับโจทก์เท่านั้น อาจจะรับฟ้องไว้พิจารณาก่อน

ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลให้จำเลยทั้ง 5 กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโจทก์ และนำไปสู่การที่ บอร์ดกสทช. ทั้ง 4 ท่าน ไม่มีสิทธิลงมติในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ซี่งประธาน กสทช. พยายามเสนอชื่อ โจทก์ คือนายไตรรัตน์ มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งหากศาลอาญาคดีทุจริต มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา ในการประชุมวันนี้ อาจจะมีวาระแทรก เรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เข้ามาทันที แต่ในท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้เสนอและคาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้ แทน