ไทยคม ชูนวัตกรรมคีย์สำคัญ ชิงขุมทรัพย์ New Space Economy

ไทยคม ชูนวัตกรรมคีย์สำคัญ  ชิงขุมทรัพย์ New Space Economy

พรมแดนของอวกาศได้ถูกทลายลงหลังจากที่เทคโนโลยีและอินโนเวชั่นรุดหน้าไปมาก ดังนั้น ไทยต้องเตรียมโอบรับเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ที่กำลังจะเกิดขึ้น

คำสั่งแต่งตั้ง ปฐมภพ สุวรรณศิริ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 ถือเป็นการผลักดันลูกหม้อตัวจริงเสียงจริงเข้านั่งเก้าอี้หัวเรือใหญ่อย่างแท้จริง เนื่องจากปฐมภพ เข้าร่วมงานกับไทยคม มาเป็นเวลากว่า 29 ปี ทำมาแล้วด้วยความสามารถรอบด้านและประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในด้านวิศวกรรม ด้านเทคโนโลยี การพัฒนาธุรกิจ การขายและการตลาด และประสบการณ์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ จนได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมดาวเทียมระดับสากล ผ่านมา 1 ปี ปฐมภพพลิกฟื้นบริษัทจนมั่นใจว่าภายในปีนี้จะมีกำไรสุทธิอย่างแน่นอน พร้อมกับแผนการยิงดาวเทียมดวงใหม่ 2 ดวงหลังจากเป็นผู้ชนะการประมูลวงโคจรจาก กสทช.

อินโนเวชั่นกลไกดันเศรษฐกิจใหม่

ปฐมภพ อธิบายภาพของกิจการอวกาศในอนาคตว่า เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจดาวเทียมอีกต่อไป และกิจการอวกาศจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นอินฟราสตรัคเจอร์หลักให้แก่ประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีกลไกในการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศสร้าง New S-Curve ดังนั้น ไทยคมก้าวขึ้นสู่การเป็น Space Tech Company เพื่อรองรับเศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ New Space Economy

โดยการประเมินจากบริษัทต่างชาติเผยว่าในปีนี้เม็ดเงินที่เกี่ยวเนื่องกับ Space Economy น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และในปี 2570 จะก้าวกระโดดไปถึง 1 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

ดังนั้น โอกาสของไทยทั้งด้วยภูมิศาสตร์ที่นั้งและการที่เราเป็นฮับในหลายๆด้าน ส่วนตัวมองว่า กิจการอวกาศในจะไม่จำกัดอยู่แค่ดาวเทียมสื่อสารทั้งวงโคจรประจำที่ ไม่ประจำที่ และวงโคจรระดับสูง กลาง ต่ำ แต่เมื่ออินโนเวชั่นและเทคโนโลยีล้ำหน้ามาถึงจุดนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอย่างแน่นอน สิ่งที่ต้องคำนึงคือประเทศไทยเองจะหยิบฉวยโอกาสที่ผ่านเข้ามาจาก Space Economy ได้อย่างไรซึ่งมี Opportunity ในอวกาศระดับโลกที่กำลังเปิดกว้าง
 

วางเป้าสู่ “สเปซ เทค คัมพานี”

ปฐมภพ บอกว่า ไทยคมเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดาวเทียมมาตลอด 30 ปี มีทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในกิจการอวกาศ แนวทางการทำตลาด การหาพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้น ภาพของอนาคตตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น

“ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจของตัวเอง จากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่ง 3 ธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ”

3 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 1.บริการ Software defined satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ

2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร

3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิด “บิ๊กดาต้า” ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม

ดาวเทียมทางลัดลดช่องว่างดิจิทัล

เขา กล่าวว่า แม้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์หรือโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยนีไอซีที (ดิจิทัล ดีไวน์) แต่ถึงมีพื้นที่อีกมากที่จะอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถขยายโครงข่ายไปถึงได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่เป็นภูเขา เกาะแก่ง หรือพื้นที่ห่างไกลจริงๆอย่างเช่น อินโดนีเซียอินเดีย หรือแม้แต่บางพื้นที่ในประเทศไทยเอง

ดังนั้น การสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO หรือแม้แต่วงโคจรประจำที่ GEO ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ดังนั้น การปิดช่องโหว่ที่จะเป็นปัญหาในการพัฒนาองคาพยพของประเทศที่ต้องขับเคลื่อนตามแผนเศรษฐกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ประโยชน์จากดาวเทียมให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยภาคศึกษาคือเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ อยากขอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันกฎระเบียบภายในประเทศที่ยังเป็นข้อจำกัดด้านกิจการอวกาศให้มีความเท่าทันกับเทคโนโลยีก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การพัฒนาก้าวไปไกลได้อย่างไม่ยากโดยที่ผ่านมาไทยคมที่เป็นเอกชนให้ความร่วมมือพร้อมถึงทำข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐด้วยดีมาตลอด