'ทรู' เดินหน้าควบ 'ดีแทค' มั่นใจไทยได้ประโยชน์ ยันคำสั่งศาลฯไม่กระทบ

'ทรู' เดินหน้าควบ 'ดีแทค' มั่นใจไทยได้ประโยชน์ ยันคำสั่งศาลฯไม่กระทบ

ทรู ยืนยันผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่กระทบการควบรวมทรู-ดีแทค เพียงส่งกลับให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยเท่านั้น

โดยในประเด็นดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว โดยศาลเห็นว่ามติรับทราบของ กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว จีงไม่มีเหตุรับฟังว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ตามที่เมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม 2566) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติ กสทช. ที่เกี่ยวเนื่องกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และดีแทค ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไปนั้น 

บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องครบถ้วน โดยคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นเพียงการเริ่มต้นกระบวนการจากการที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณา อันเนื่องมาจากที่ผ่านมา ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะขาดอายุความ  มูลนิธิฯ จึงอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

ซึ่งต่อมา วานนี้ ศาลปกครองสูงสุดยืนว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นคำฟ้องขาดอายุความจริง แต่มีเหตุที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาได้  โดยศาลปกครองชั้นต้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเนื้อหาคดีโดยละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีลักษณะเดียวกันที่สภาองค์กรของผู้บริโภคและ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็คเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) ได้ฟ้องขอเพิกถอนมติการควบรวมไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยศาลเห็นว่ามติรับทราบของ กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว จีงไม่มีเหตุรับฟังว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ บริษัทฯเชื่อมั่นว่าการควบรวมเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่ประโยชน์ของผู้ใช้บริการของทั้ง 2 แบรนด์ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการโทรคมนาคมไทย  ลูกค้าผู้ใช้บริการ คนไทย และประเทศไทย  อีกทั้งการควบรวมที่เกิดขึ้นก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องครบถ้วน  

ทั้งนี้ ทรูและดีแทค ได้ดำเนินการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้ชื่อใหม่เป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 มี.ค. 2566 โดยยืนยันว่า ยังคงปฏิบัติตามมติ กสทช. เงื่อนไขการควบรวมของ กสทช. ทางบริษัทจะมีการรวมหนี้สิน ทรัพย์สิน จำนวนหุ้น แต่ยังคงดำเนินการทั้งสองแบรนด์ ตามปกติ หมายความว่า แยกการทำตลาดของทั้งสองแบรนด์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และหลังจาก 3 ปี จึงจะมีการปรับแผนการดำเนินงานใหม่

ซึ่งการควบรวมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรกิจ และการให้บริการโดยมั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งสองแบรนด์ได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้เป็นอย่างดี