วินัยและการใช้ชีวิตต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก

วินัยและการใช้ชีวิตต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก

การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่เด็ก เพราะกว่าจะรอให้โตทุกอย่างก็อาจสายเกินไปแล้ว

วิถีชีวิตของชนชั้นกลางที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ มีการแต่งงานช้ากว่าเดิม หลังแต่งงานก็เน้นการอยู่ร่วมกันแบบไม่คิดจะสร้างครอบครัวใหญ่ คือไม่มีลูก หรือถ้าจะมีก็มีเพียง 1-2 คนเท่านั้น ตรงกันข้ามกับในอดีตที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยและเน้นการมีลูก 3-4 คนขึ้นไป

เมื่อรูปแบบครอบครัวเปลี่ยนไป การปลูกฝังค่านิยมและแนวคิดดีๆ ให้กับเด็กก็ดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้น เพราะลูกของชนชั้นกลางทุกวันนี้แทบจะไม่มีความต้องการอะไรเพราะพ่อแม่จัดหามาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งของเล่น ของใช้เสริมทักษะ เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนรู้ให้มากที่สุดในทุกๆ ด้าน

เมื่อพ่อแม่ให้ลูกมากไปจนเกินความเหมาะสม ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเด็กๆ จะมีกิจกรรมในแต่ละวันเยอะมากเกินความจำเป็นเพราะพ่อแม่จัดตารางให้แบบละเอียดยิบทั้งการกวดวิชาที่เน้นวิชาการหลังเลิกเรียน ตามด้วยกีฬา ดนตรี ภาษาต่างประเทศ ฯลฯ

สุดท้ายแล้วเด็กๆ ก็แทบจะไม่รู้จักการจัดการชีวิตของตัวเอง เพราะแค่ทำกิจกรรมตามที่พ่อแม่จัดให้ก็แทบจะไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่นแล้ว การจะปลูกฝังวินัยในการใช้ชีวิตจึงทำได้ค่อนข้างยากเพราะเด็กไม่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมด้วย

การสร้างวินัยให้กับเด็กจึงต้องเริ่มต้นจาก ข้อแรกคือ การกระตุ้นให้เขาอยากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เมื่อเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ พ่อแม่ก็ต้องช่วยชี้ให้เห็นเป้าหมาย

เมื่อมีเป้าหมายแล้วเด็กก็จะหาวิธีบริหารตัวเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น และเขาก็จะได้ลองผิดลองถูกเพื่อหาวิธีไปถึงเป้า ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมาจากความสมัครใจไม่ใช่การบังคับ และห้ามเริ่มต้นด้วยการตำหนิ แต่ต้องเป็นคำชมเพื่อสร้างกำลังใจให้เขา

ข้อสอง ต้องช่วยเด็กค้นหาตัวเอง เพราะการที่เขาจะลงมือวางแผนทำกิจกรรมอะไรก็ตามทุกอย่างจะง่ายขึ้นเมื่อกิจกรรมนั้นๆ สอดคล้องกับตัวตนของเขา ซึ่งต้องไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ยัดเยียดให้ แต่เป็นสิ่งที่เขามีแรงบันดาลใจด้วยตัวเอง

ธรรมชาติของเด็กมีความอยากรู้อยากลอง อยากค้นคว้า และอยากริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งกิจกรรมในโรงเรียนหากเปิดกว้างให้เด็กได้ลองทำโครงงานต่างๆ ก็อาจเป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเหล่านั้น เพื่อดูว่ามีอะไรที่ตรงกับความชอบของตัวเองบ้าง

ข้อสามคือ การทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กเสมอ เพราะเด็กๆ ก็เหมือนผ้าขาวที่ซึมซับทุกอย่างจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเดิน การแต่งกาย การพูดการคุย ฯลฯ รวมถึงทัศนคติในการใช้ชีวิต ถ้าพ่อแม่คุยกับเขาด้วยเหตุและผล เขาก็จะเรียนรู้การใช้เหตุและผลจากเราไปด้วย

ข้อสี่ ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพื้นฐานของเด็กมักสนใจที่จะเล่นซนมากกว่าที่จะมาจัดการสิ่งต่างๆ ให้มีระบบระเบียบ พ่อกับแม่จึงต้องค่อยๆ แนะนำและทำให้ลูกเห็นว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง

ข้อสุดท้าย ต้องให้เขาเข้าใจเรื่องธรรมชาติในมิติต่างๆ เช่นธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ หากอากาศเย็นแล้วเลือกเสื้อผ้าบางเกินไป เขาก็จะเป็นหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้เองและถ้าเขาเข้าใจแล้วก็จะรู้จักจัดการชีวิตด้วยการเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศเสมอ

หรือจะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแง่การปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น หากมีมารยาทดีก็มักจะได้รับการตอบรับที่ดี ตรงกันข้ามกับการมีมารยาทไม่เหมาะสมก็ย่อมได้รับผลเชิงลบจากคนรอบข้าง ซึ่งการสอนจากพ่อแม่จะช่วยให้เขาเข้าใจสิ่งรอบข้างได้ดีขึ้น

การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่เด็ก เพราะกว่าจะรอให้โตทุกอย่างก็อาจสายเกินไปแล้ว การเริ่มจากที่บ้านย่อมทำให้เรามีสถาบันครอบครัวที่แข็งแกร่ง เป็นการเตรียมสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่สังคม 

พวกเขาจะมีความพร้อมเป็นพลเมืองที่ดี สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไรก็ตาม และส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของทั้งประเทศในท้ายที่สุด