อุตฯดิจิทัลไทย สะพัดเฉียด 3 แสนล้าน ‘ฟินเทค-เฮลท์เทค’ โตสูงตามเทรนด์โลก

อุตฯดิจิทัลไทย สะพัดเฉียด 3 แสนล้าน  ‘ฟินเทค-เฮลท์เทค’ โตสูงตามเทรนด์โลก

ดีป้า ผนึกสถาบันไอเอ็มซี เผยอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2565 โต 14% มูลค่ารวมแตะ 2.61 ล้านล้านบาท กลุ่มอุตฯบริการดิจิทัลขยายตัวสูงสุด สร้างรายได้กว่า 2.8 แสนล้านบาท "ฟินเทค - เฮลท์เทค' โตแรงตามเทรนด์โลก ขณะที่ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ 3 ปีมูลค่าทะลุ 2 ล้านล้านบาท

“กษิติธร ภูภราดัย” รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และ อุตสาหกรรมสื่อสาร มีมูลค่ารวม 2,614,109 ล้านบาท

นับเป็นการขยายตัวจากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 14% มีอัตราเติบโตอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลโดยเฉพาะ ฟินเทค และ เฮลท์เทค ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก

อุตฯดิจิทัลไทย สะพัดเฉียด 3 แสนล้าน  ‘ฟินเทค-เฮลท์เทค’ โตสูงตามเทรนด์โลก

ซอฟต์แวร์โต19% นำเข้าสูงกว่าส่งออก

ขณะที่ ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2565 มีมูลค่า190,766 ล้านบาท โต 19% ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 2,453 ล้านบาท เติบโต 9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 49,568 ล้านบาท เติบโต 23%

สำหรับมูลค่าซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 78,043 ล้านบาท เติบโต 18% แบ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในเครื่อง (On-Premise) มูลค่า 47,549 ล้านบาท และซอฟต์แวร์เช่าใช้ (Cloud/SaaS) มูลค่า 30,494 ล้านบาท ส่วนบริการซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วย ประเภทผู้ติดตั้งระบบ ประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ ประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์ และประเภทฝึกอบรมและที่ปรึกษา มีมูลค่ารวม 112,723 ล้านบาท เติบโต 19%

โดยประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์มีมูลค่าสูงที่สุด คือ 33,802 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์มีมูลค่า 31,073 ล้านบาท และประเภทผู้ติดตั้งระบบมีมูลค่า 27,090 ล้านบาท เมื่อพิจารณาจากความต้องการซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคาดว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องระหว่างปี 2566-2568 จากมูลค่า 218,999 ล้านบาท เป็น 241,775 ล้านบาท และ 265,469 ล้านบาทตามลำดับ

อุปกรณ์อัจฉริยะขยายตัวตามไลฟ์สไตล์

ปี 2565 อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และ อุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งแบ่งตามสินค้าและอุปกรณ์ 6 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท เติบโต 18% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 438,508 ล้านบาท เติบโต 13% มูลค่าส่งออก 993,472 ล้านบาท เติบโต 19%

โดยประเภทของสินค้า อุปกรณ์ที่เติบโตโดดเด่น คือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมูลค่ารวมทั้งสองอุตสาหกรรมอยู่ที่ 419,989 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องการใช้ชีวิตของคนไทยในสังคมดิจิทัลมากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ว่า แม้มูลค่าอุตสาหกรรมปี 2566 อาจจะขยายตัวไม่มาก โดยจะอยู่ที่ 1,472,075 ล้านบาท แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตถึง 1,744,409 ล้านบาทในปี 2567 และ 2,065,381 ล้านบาทในปี 2568

บริการดิจิทัลโตรับเมกะเทรนด์

ขณะที่ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2565 มีมูลค่ารวมที่ 281,515 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 21%

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่

  1. ค้าปลีก มีมูลค่าอุตสาหกรรม 78,290 ล้านบาท เติบโต 28%
  2. ขนส่ง มีมูลค่าอุตสาหกรรม 83,472 ล้านบาท เติบโต 19%
  3. ท่องเที่ยว มีมูลค่าอุตสาหกรรม 10,239 ล้านบาท เติบโต 21%
  4. สื่อออนไลน์ มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,911 ล้านบาท เติบโต 19%
  5. ผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ มีมูลค่าอุตสาหกรรม 22,119 ล้านบาท เติบโต 7%
  6. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,541 ล้านบาท เติบโต 22%
  7. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มีมูลค่าอุตสาหกรรม 742 ล้านบาท เติบโต 65%
  8. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีมูลค่าอุตสาหกรรม 1,201 ล้านบาท เติบโตลดลง 2%

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรมเฮ​ลท์เทค แม้ยังมีมูลค่าไม่สูง แต่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ตอบรับเมกะเทรนด์ที่ผู้คนให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเติบโตต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 454,628 ล้านบาท ในปี 2568

บิ๊กดาต้า-ปัญญาประดิษฐ์โต 15%

“ธนชาติ นุ่มนนท์” ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ได้วัดมูลค่าอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ด้วย แต่เป็นมูลค่าที่ผสานรวมในอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ จากการคำนวณมูลค่ารายได้ของอุตสาหกรรมจำนวน 213 บริษัท พบว่า อุตสาหกรรมบิ๊ก ดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ ปี 2565 มีมูลค่า 25,471 ล้านบาท เติบโต 15%

ทั้งนี้ การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 3,648 ล้านบาท เติบโต 20% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 6,717 ล้านบาท เติบโต 20% 3. ส่วนงานบริการ มีมูลค่า 15,059 ล้านบาท เติบโต 12%

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดของอุตสาหกรรมดิจิทัลและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง เอไอ, ไอโอที, บล็อกเชน ตลอดจน เว็บ 3.0 และควอนตัม คอมพิวติ้ง จะมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโตยิ่งขึ้น