จับตาประชุม 'บอร์ดกสทช.' สัญจร พร้อมเซ็นตั้ง 'ไตรรัตน์' นั่งเลขาฯ คนใหม่

จับตาประชุม 'บอร์ดกสทช.' สัญจร พร้อมเซ็นตั้ง 'ไตรรัตน์' นั่งเลขาฯ คนใหม่

ประชุมบอร์ดกสทช.สัญจร ที่นครพนม มีวาระพิจารณาเลขาฯคนใหม่ หึ่ง “ไตรรัตน์” ฟ้องอาญา 4 กสทช.เพราะหวังเขี่ยให้พ้นวงโหวตตั้งเลขาฯ กสทช.คนใหม่ เหลือบอร์ดโหวตผ่านฉลุย 3 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (21 ก.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. สัญจร ที่ จ.นครพนม โดยมีวาระค้างพิจารณาจำนวนมาก เนื่องจากการประชุม กสทช.ระยะหลังติดขัดจากหลายสาเหตุ โดยนัดหมายประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีวาระที่น่าสนใจ อาทิ การพิจารณาเรื่องดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังจะหมดอายุทางวิศวกรรม, การพิจารณาร่างโครงสร้างสำนักงาน กสทช. และการเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ เป็นต้น

สำหรับวาระการเสนอชื่อเลขาธิการ กสทช. มีการคาดการณ์ว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เพื่อให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้เป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่

โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช.จำนวน 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ เป็นจำเลยที่ 1, น.ส.พิรงรอง รามสูต เป็นจำเลยที่ 2, นายศุภัช ศุภชลาศัย เป็นจำเลยที่ 3, นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เป็นจำเลยที่ 4 และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นจำเลยที่ 5

ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

จากกรณีที่เมื่อการประชุม กสทช. วันที่ 23 ม.ค.2566 กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน ลงมติเสียงข้างมากปลด นายไตรรัตน์ จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ นายไตรรัตน์ ถูกตั้งกรรมกาาสอบจะเสร็จสิ้น พร้อมมีมติให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน

โดย นายไตรรัตน์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีกฎหมายรองรับให้กระทำได้ แล้วเผยแพร่ข่าวแก่สื่อมวลชนทันที ทำให้โจทก์เสียหาย จากนั้นก็ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน ทำให้โจทก์เสียหายกระทบต่อการทำงาน โดยศาลรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง และให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 3 ต.ค.2566

รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช.แจ้งต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติของบอร์ดกสทช. ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจทางปกครอง หาก นายไตรรัตน์ มองว่า ได้รับความเสียหายจากมติดังกล่าวก็ชอบที่จะเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง มากกว่าการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง โดยที่ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้องเอง โดยไม่ผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย อาจเพราะ นายไตรรัตน์ ประเมินแล้วว่า ขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องในชั้น ป.ป.ช. อาจใช้ระยะเวลานาน และมีโอกาสที่ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่า คำฟ้องของนายไตรรัตน์ ไม่มีมูลความผิดทางอาญาได้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า การที่ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. 4 คน เป็นคดีอาญา อาจจะส่งผลให้กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน มีลักษณะเป็นคู่กรณีกับ นายไตรรัตน์ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 และหากมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ที่คาดว่า นายไตรรัตน์ จะได้รับการเสนอชื่อ หรือ นายไตรรัตน์ ทำการคัดค้านด้วยตัวเอง ก็อาจทำให้กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน ต้องหยุดการพิจารณาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และอาจต้องมีการพิจารณาว่า จะต้องออกจากที่ประชุม ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมติปลดนายไตรรัตน์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 ก็พบว่า กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คนที่ถูกนายไตรรัตน์ฟ้องเป็นเสียงข้างมากที่ลงมติให้ปลดนายไตรรัตน์

ดังนั้น องค์ประชุม กสทช.ที่จะเหลือเพียงประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช.เพียง 2 คน ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แบบผ่านฉลุย

ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองคือ ประธาน กสทช. และกรรมการที่เหลือล้วนแล้วแต่มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการของประธาน กสทช. เกี่ยวกับนายไตรรัตน์ มาโดยตลอด ขณะเดียวกัน กระบวนการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ครั้งนี้ก็ข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย