ความโดดเดี่ยวในสังคม

ความโดดเดี่ยวในสังคม

สังคมไทยวันนี้กำลังประสบกับภาวะ “แซนด์วิชระหว่างวัย” ที่ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดลง ด้วยค่านิยมสมัยใหม่ที่มีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลยในขณะที่เหล่าประชากรสูงวัย ก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์

ในขณะที่วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ที่พึ่งพิงการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่เราจะเห็นแต่ละคนใช้ชีวิตของตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างโลกใหม่ให้แต่ละคนผ่านโซเชียลมีเดีย เกมส์ ซี่รีส์ใหม่ ๆ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ไม่น่าแปลกใจอะไร ที่เราจะเห็นคนรอบข้างบ่นว่า “เหงา” เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละคนรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยที่ลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้านกันหมด หลายคนเริ่มซึมเศร้าและไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อความรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยวก่อตัวขึ้นแล้วก็ยากกลับมาเป็นปกติ แม้จะมีคนอยู่รายล้อมมากมาย แต่จิตใจมักจะรู้สึกอ้างว้าง ตราบใดที่ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองและฉุดตัวเองขึ้นมาจากอารมณ์ด้านลบดังกล่าว

เพราะในความเป็นจริง เราจะเห็นผู้คนมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังได้อย่างมีความสุข ไม่จำกัดว่าเป็นคนโสดที่เป็นหนุ่มสาว หรือผู้สูงอายุที่อยู่กันเพียงสามีภรรยาเพราะลูกแยกไปมีครอบครัวใหม่แล้ว เพียงเพราะเขามีวิถีชีวิตที่คิดบวกและมีเคล็ดลับง่าย ๆ อยู่ไม่กี่ข้อนั่นคือ...

ข้อแรก ทำตัวเองให้มีคุณค่าเสมอ หากเรารอพบใครสักคนในร้านกาแฟ แต่รออยู่นานจนกาแฟหมดแล้ว เขาก็ยังไม่มา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะมีอยู่ 2 อย่างเสมอ นั่นคือเบื่อและเหงาที่ต้องเฝ้ารอต่อไป กับการอ่านหนังสือ อ่านบทความ ฟังพอดแคสต์ ฯลฯ เพื่ออัพเดทตัวเองระหว่างรอ

ถ้าเป็นอย่างหลังก็แน่นอนว่าเราจะมีอะไรให้ทำเสมอ และสิ่งที่ทำก็เป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองด้วยความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา การรอคอยจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเรามีอะไรให้ทำอย่างต่อเนื่อง เหมือนเด็กที่กำลังเล่นเลโก้เขาย่อมไม่รู้สึกเบื่อหรือเหงาเพราะต้องใช้สมาธิมากมายว่าจะต่อเลโก้ยังไงให้เป็นไปตามจินตนาการของเขา

ข้อสอง หาจุดสนใจร่วมกัน ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวสมัยใหม่แม้จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่มักสร้างบรรยากาศเงียบเหงาและโดดเดี่ยวได้ง่าย ๆ เพราะต่างคนต่างมีกิจกรรมของตัวเอง เช่นลูกๆ ที่อาจกำลังติดซีรี่ย์จีนหรือเกาหลีอยู่ จนทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นส่วนเกินในบ้าน

แต่หากลูกหาจุดสนใจร่วมกันได้ เช่นชวนพ่อแม่ให้มาดูบางช่วงบางตอนที่เป็นประวัติศาสตร์หรือมีนักแสดงที่พ่อแม่คุ้นเคย เมื่อได้มาดูพร้อมกันแล้วก็อาจได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน หรืออาจได้ดูไปพร้อม ๆ กันได้กลายเป็นกิจกรรมร่วมกัน

เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะทำให้เรารู้สึกไม่เข้าพวกเสมอ หากไม่มีกิจกรรมหรือไม่มีความสนใจร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม การหาจุดสนใจร่วมกันจึงเป็นการสร้างความมีส่วนร่วม และทำให้กิจกรรมภายในบ้านที่เคยต่างคนต่างทำ กลายเป็นกิจกรรมที่ทุกคนร่วมกันทำได้ ความเหงาก็จะค่อย ๆ ลดลง

ข้อสาม อย่าคิดลบ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น ประสบการณ์โดยตรงของผมเองเกิดจาก การกลับไปบ้านเกิดและพยายามติดต่ออาจารย์ที่เคยสอนหนังสือให้เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ด้วยความทรงจำที่ดีจึงพยายามติดต่อไปหา แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะอาจารย์ไม่เคยว่างติดต่อกลับมาเลย ทำได้เพียงฝากข้อความเอาไว้

เมื่ออยู่เพียงลำพังความรู้สึกด้านลบอาจเกิดขึ้นในใจโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับตัวผมเอง ที่อดคิดไม่ได้ว่าอาจารย์คงจำเราไม่ได้แล้ว หรือไม่ก็ไม่เห็นความสำคัญของเราซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว

แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาจารย์ก็ติดต่อกลับมาพร้อมแสดงความดีใจที่ได้คุยกันอีก โดยย้ำว่าจำเราได้เสมอในยุคที่ยังเป็นนักศึกษารวมถึงจำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกด้านลบหายไปหมดสิ้น

ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญจึงอาจเป็นเพียงความคิดด้านลบในใจเรา ที่คิดขึ้นมาเอง และอาจก่อให้เกิดเป็นความเหงาได้หากไม่ควบคุมความคิดของตัวเองให้ดี เพราะความคิดด้านลบอาจขยายตัวขึ้นมาจนทำให้เรามองสิ่งรอบตัวด้วยความหดหู่โดยไม่จำเป็น