AI Readiness Assessment สู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเอไอ

AI Readiness Assessment สู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเอไอ

จากความสามารถของเทคโนโลยี “เอไอ” ที่ก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจมีความคิดที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการองค์กร

โดยหวังว่าจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินกิจการไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น แต่การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาและต้นทุน 

บางบริษัทที่ได้เริ่มลงมือไปแล้วจริงๆ อาจพบว่าเทคโนโลยีที่เสียเงินลงทุนไป กลับใช้ได้ไม่คุ้มค่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบริษัทได้อย่างที่ตั้งใจ หรือพนักงานเกิดความไม่สะดวกในการใช้งานเพราะอาจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไป

ดังนั้น ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเอไอมาปรับใช้ในการดำเนินงาน ทุกองค์กรควรมีการทำ AI Readiness Assessment หรือ การประเมินความพร้อมเอไอในองค์กร เพื่อให้บริษัทได้มองเห็นภาพกว้างขององค์กร สร้างความเข้าใจในสถานะปัจจุบันขององค์กรที่มีต่อเทคโนโลยีและตัวบุคลากร ทบทวนจุดประสงค์และเป้าหมาย ช่องว่างที่ต้องปรับปรุงพัฒนา 

รวมถึงประเมินความเสี่ยงของการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เพื่อจะช่วยให้การลงทุนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็น AI Transformation เกิดความคุ้มค่า ตอบโจทย์ธุรกิจ และดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนมากที่สุด ซึ่งเราสามารถแบ่งปัจจัยที่ต้องประเมินออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

ความพร้อมด้านยุทธศาสตร์ขององค์กร : ตรวจสอบว่าองค์กรมีการกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าหมายและวิธีการวัดผลที่สอดคล้องกับรูปแบบและการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนขององค์กรในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ไว้อย่างชัดเจนและเหมาะสมแล้วหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่มาพร้อมความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารที่ถ่ายทอดและสื่อสารไปสู่บุคลากรคนทำงานให้มีความเข้าใจและมั่นใจ เพื่อพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ

ความพร้อมของบุคลากร : ประเมินศักยภาพของบุคลากรคนทำงานเมื่อต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยี เพื่อวางแผนพัฒนาหรือส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างกรอบความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ส่งเสริมการทำงานและวัฒนธรรมภายในองค์กรเพื่อช่วยผลักดันการทำงานให้มีประสิทธิภาพและราบรื่น เพราะบุคลากรถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการทำงานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กร

ความพร้อมด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน : ตรวจสอบความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เครือข่าย อุปกรณ์เครื่องมือ โปรแกรมซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในการทำงาน ว่าสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก คล่องตัว ช่วยทุ่นแรง และตอบโจทย์กับธุรกิจ การประเมินความพร้อมในด้านนี้จะช่วยเพิ่มความพร้อมให้กับองค์กรเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มสมรรถนะในการดำเนินกิจการเป็นอย่างดี

ความพร้อมของข้อมูล : ตรวจสอบความพร้อมของการใช้ข้อมูลในองค์กร ว่ามีการวางแผน จัดวางโครงสร้างข้อมูล ตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล เตรียมข้อมูล แยกประเภทข้อมูล การจัดเก็บ กำหนดขอบเขตเจ้าหน้าที่ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ไปจนถึงการวางระบบเชื่อมต่อข้อมูล ที่ควรมีโครงสร้างที่เข้าถึงง่ายและปลอดภัย 

เพื่อรู้ถึงข้อจำกัดและโอกาสในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อมูลจะมีประโยชน์และสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้จริงและยั่งยืน จำเป็นต้องถูกจัดการด้วยวิธีและเครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ วางแผนปรับกลยุทธ์และสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้จริงต่อไป

ขั้นตอนการประเมินความพร้อมเอไอในองค์กรนี้จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกับการทำ Feasibility หรือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเข้าใจถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไขได้อย่างตรงจุด พิจารณาเลือกแนวทางหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม 

จัดวางแผนงานในการเตรียมความพร้อมและขั้นตอนการดำเนินงานทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี วิเคราะห์ความเสี่ยง พร้อมวางแผนการจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม รวมถึงคาดการณ์จำนวนงบประมาณที่ต้องใช้และความคุ้มค่าของผลตอบแทน ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริง