เปิดคมคิด “สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์” เคลียร์คลื่น3500 MHz - ปลุกชีพ MVNO

เปิดคมคิด “สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์” เคลียร์คลื่น3500 MHz - ปลุกชีพ MVNO

การประมูล "คลื่นความถี่" ของไทยช่วงเปลี่ยนจาก "สัญญาสัมปทาน" มาสู่ "ใบอนุญาต" พร้อมกับเปลี่ยนจาก "อนาล็อก" สู่ "ดิจิทัล" อย่างสมบูรณ์ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย คือ การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้เกิดผู้ประกอบการหลายราย เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน

แต่ด้วยข้อจำกัดของเซ็กเตอร์ โทรคมนาคม ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายใหญ่ จึงถือเป็นตัววัดความสามารถของ “กสทช.” คนใหม่ด้าน โทรคมนาคม ที่จะเข้ามาสางปัญหาและจุดพลุบริการใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง

"สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์" กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ บอร์ดกสทช. กล่าวว่า หลังได้รับตำแหน่งกรรมการ กสทช.อย่างเป็นทางการ แม้จะได้สรรหามาเป็นคนสุดท้าย แต่ก็ได้พยายามศึกษาข้อมูล และทำการบ้านอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาได้เข้าพบผู้ประกอบการด้านกิจการโทรคมนาคมในทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและใช้คลื่นความถี่ที่ถือเป็นสมบัติของชาติอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

หลังได้หารือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม คือ การจัดสรร คลื่น3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่ 400 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขณะนี้มีการใช้งานในผู้ให้บริการเคเบิลดาวเทียม (จานดำ) ดังนั้น จำเป็นต้องเรียกคืนมาใช้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ผ่านมาคุยกันหลายมิติ เพื่อเคลียร์แบนด์ในย่านดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

“5G”วิ่งบน3500ดีที่สุด

จากการศึกษาผลวิจัยในประเทศผู้ผลิต พบว่า แม้ไทยจะให้บริการ 5G ไปแล้ว ในย่าน 700 850 2100 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ขณะที่ ระบบนิเวศอุปกรณ์สำหรับเครือข่ายสแตนด์ อะโลน (เอสเอ) ในย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ถูกพัฒนามาก และหลายประเทศใช้ย่านดังกล่าวเป็นย่านหลักให้บริการ 5G ดังนั้น ในย่านดังกล่าว จะมีข้อดีคือ เกิด "อีโคโนมี ออฟ สเกล" ทั้งอุปกรณ์ผู้ให้บริการ และอุปกรณ์ผู้ใช้งานทั้ง 5G ในอุตสาหกรรม ที่เป็นยูสเคสต่างๆ และสมาร์ทโฟนสำหรับการใช้งานผู้บริโภคทั่วไป ที่จะมีราคาต่อหน่วยและความหลากหลายที่มากกว่า

“แม้ กสทช.เปิดประมูลในหลายย่านความถี่ไปก่อนหน้าแล้ว แต่หากเมื่อใด ที่ความต้องการในย่านนี้เข้ามา เราอย่าตายใจ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนดำเนินการ”

เขา กล่าวว่า ปัจจุบันย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ มีอยู่จำนวน 400 เมกะเฮิรตซ์ หากแบ่งเป็นการ์ดแบนด์ เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนออกจะเหลือที่นำมาจัดสรรได้ 300 เมกะเฮิรตซ์ 

"ความเห็นส่วนตัวมองว่า หากจะต้องการให้เกิดการแข่งขันในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ในไทยมีผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 ราย ก็มีความคิดจะเปิดประมูลเพียง 1 ใบอนุญาตคือ 300 เมกะเฮิรตซ์ หรือหากไม่สามารถทำได้ก็จะจัดสรรออกเป็น 3 ใบอนุญาตๆละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งก็จะมี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) ในการเข้ามาประมูลเพื่อนำคลื่นไปรวมย่านความถี่อื่นๆ ที่ถือครองเพื่อได้ให้บริการที่ครอบคลุม"

หวังดึงต่างชาติทำตลาดเฉพาะ

เขา กล่าวว่า กสทช.กำลังวางแผนเกี่ยวกับคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันมีการใช้งานในผู้ประกอบการดาวเทียม เคเบิล ซึ่งหากนำมาประมูล ก็ไม่ได้วางเกณฑ์ว่า ต้องได้ราคาประมูลสูง แต่จะให้ความสำคัญกับการ ใช้คลื่นได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากราคาประมูลสูงภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค แต่หากราคาต่ำเกินไปก็อาจถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชน จึงต้องมีการบาลานซ์ หรือหาจุดสมดุลให้ดี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีการสำรวจในระดับภูมิภาค พบว่า การประมูลคลื่นความถี่ ของไทยมีราคาสูงมาก แต่ตามกรอบของกฎหมาย จำเป็นต้องใช้วีธีประมูลหากจะไม่ประมูลต้องขึ้นอยู่กับ 3 กรณี คือ

1.มีคลื่นความถี่เหลือใช้จำนวนมาก

2. นำไปใช้ด้านความมั่นคง  

3. นำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงธุรกิจ

ในความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจากต่างชาติรายใหม่ๆ สนใจเข้ามาร่วมประมูล โดยเข้ามาหาพาร์ทเนอร์ ในไทย แล้วถือหุ้น 49% ตามกรอบกฎหมายไทย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ ก็จะไม่ทิ้งเรื่อง ไพรเวท เน็ตเวิร์ค ให้กับสมาคมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สนใจทำเข้าร่วมประมูลด้วย

ปลุก 'MVNO' สู้ขาใหญ่

เขา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยแค่ 2 รายใหญ่ ซึ่งแม้การเขียนประกาศฯกสทช.จะมีการสงวนคลื่นกันความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) ไว้ที่ขั้นต่ำ 20% ให้แก่ ผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (MVNO) แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการทำตลาดอย่างจริงจัง และไม่มีศักยภาพที่แข่งขันได้ 

"ดังนั้น ผมจึงมีความคิดอยากให้ MVNO แข่งขันได้จริงๆ อยากให้มีรูปแบบการอนุญาตคล้ายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีการจูงใจรายย่อยให้มีการทำตลาดเฉพาะกลุ่มแค่บางพื้นที่ มีแพคเก็จที่ราคาขายเฉพาะกลุ่มทำเหมือนบีโอไอกำลังซาวเสียงบอร์ด เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องราคารีเทลค้าปลีก ราคาสูงกว่า 10 เท่า ตั้วแต่ปี 2561 จะเข็นให้เกิดหาพาร์ทเนอร์ กลไกที่จะทำให้ตลาดมันดี มีโปรโมชั่น กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว อีอีซี ก็พอ ตามหลักที่มี one size fit all ไม่เน้นมีหลายโมเดล" สมภพ ทิ้งท้าย