แว่นอัจฉริยะ Ray-ban ส่อแป้ก! ลูกค้า 90% แทบไม่เปิดใช้งาน

แว่นอัจฉริยะ Ray-ban ส่อแป้ก! ลูกค้า 90% แทบไม่เปิดใช้งาน

ไม่เน้นใช้! “Ray-Ban Stories” แว่นอัจฉริยะที่ Meta ร่วมพัฒนากับ Ray-Ban ส่อเค้าแป้กไม่เป็นท่า พบลูกค้ากว่า 90% แทบไม่เปิดใช้งาน แต่ Meta ยังใจสู้ เตรียมเปิดตัวแว่นรุ่น 2 ในปีหน้า

สำนักข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานอ้างเอกสารภายในบริษัท Meta ว่า แว่นอัจฉริยะ Ray-Ban Stories ที่บริษัทขายได้ระหว่างเดือน ก.ย. 2564 ถึงเดือน ก.พ. 2566 ถูกเปิดใช้งานเป็นประจำทุกเดือนเพียง 27,000 ชิ้น จากที่ขายได้ทั้งหมดราว 300,000 ชิ้น หรือคิดเป็นไม่ถึง 10%

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า Meta ขายแว่น Ray-Ban Stories ได้เพียง 120,000 ชิ้น หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 300,000 ชิ้นในขณะนั้น

แว่นอัจฉริยะ Ray-ban ส่อแป้ก! ลูกค้า 90% แทบไม่เปิดใช้งาน
- แว่น Ray-Ban Stories ที่วางจำหน่ายในร้านค้าแห่งหนึ่ง ที่นครนิวยอร์ สหรัฐ (เครดิตภาพ: Reuters) -

ย้อนไปในปี 2564 Meta และ Ray-Ban จับมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์แว่นอัจฉริยะ Ray-Ban Stories ที่โฆษณาว่าสามารถ ถ่าย-แชร์ภาพ วิดีโอ ฟังเพลง รับสายโทรศัพท์ผ่านคำสั่งเสียง และยังสามารถเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น FacebookInstagram, WhatsApp, Messenger, Twitter (หรือชื่อใหม่ X), TikTok, Snapchat และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มลูกค้าจะไม่ประทับใจกับประสบการณ์การใช้งานแว่น หลังพบปัญหาทางเทคนิคหลายอย่าง เช่น ปัญหาการเชื่อมต่อ คำสั่งเสียงไม่ได้ผล แบตเตอรี่หมดไว และนำเข้าไฟล์จากอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ได้ อีกทั้งพบว่ามีลูกค้า 13% ส่งคืนสินค้ากลับบริษัทด้วย

ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของแว่น Ray-Ban Stories ถือเป็นอีกหนึ่งความเสียหายครั้งใหญ่สำหรับ Reality Labs ซึ่งดูแลโครงการการพัฒนาเมตาเวิร์ส รวมถึงเทคโนโลยี AR และ VR ตามวิสัยทัศน์ของ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้ง Meta หลังจากขาดทุนไปแล้วเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 และผู้บริหารก็คาดว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า Meta อาจจะขอไปต่อกับ Ray-Ban Stories โดยตั้งเป้าเปิดตัวแว่น Ray-Ban Stories รุ่นที่ 2 ที่มาพร้อมกล้องและแบตเตอรี่แบบปรับปรุงใหม่ภายในปี 2567 แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะขายในราคาเดิม 299 ดอลลาร์เท่ากับรุ่นแรกหรือไม่

อ้างอิง: WSJ, The Verge