‘อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์’ เอเชีย-แปซิฟิก สะพัดใช้จ่ายพุ่ง 2.7 แสนล้านดอลล์

‘อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์’ เอเชีย-แปซิฟิก สะพัดใช้จ่ายพุ่ง 2.7 แสนล้านดอลล์

ไอดีซี เปิดตัวเลขคาดการณ์ มูลค่าใช้จ่ายเทคโนโลยี ‘อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์’ หรือ ‘ไอโอที’ ในเอเชีย-แปซิฟิก แนวโน้มเติบโตแรง เม็ดเงินปีนี้ สะพัด 277.5 พันล้านดอลลาร์ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 11% จากการทำงานระยะไกลที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพซัพพลายเชน 5จี เชิงพาณิชย์ที่แพร่หลาย

ไอดีซี เปิดตัวเลข การใช้จ่ายด้าน อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things : IoT) ในเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าจะอยู่ที่ 277,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2565 จากความต้องการเพิ่มขึ้นของการทำงานระยะไกล, ประสิทธิภาพของซัพพลายเชน ที่ถูกพัฒนาขึ้น, การใช้งาน 5จี เชิงพาณิชย์ และพฤติกรรมการใช้บนโลกดิจิทัล เป็นส่วนสำคัญผลักดันให้การนำไอโอทีมาใช้ในภูมิภาคมีการเติบโตสูง โดยคาดว่า การลงทุนด้านไอไอที จะมีเม็ดเงินสูงถึง 4.35 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2570 เติบโตในอัตราการเติบโตต่อปีที่ 11.7% ระหว่างปี 2566 - 2570

"เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไอโอทีทั้งแบบอยู่กับที่ และแบบไร้สาย ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น อุปกรณ์ไอโอทีประหยัดพลังงานที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี 5จี จะเริ่มเปิดตัวสู่ตลาดมากขึ้นนับจากนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีไอโอที จะถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง"

นายบิลล์ โรจาส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเสริมของไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าวเสริมว่า ตัวอย่างการใช้งานไอโอทีที่เพิ่มขึ้น เช่น การกู้คืนระบบจากเหตุภัยพิบัติในกลุ่มธุรกิจพลังงาน การนำเอาระบบ 5จี มามอนิเตอร์กระบวนการทำงานในระยะไกลทั้งในภาคการผลิต การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค รวมถึงการได้ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออุปกรณ์ mid-band และ mmWave IoT เพื่อเปิดใช้งานกล้องวิดีโอ 4K สำหรับหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ เซ็นเซอร์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อด้วยไฟเบอร์สำหรับการใช้งานจำนวนมาก รวมถึงการควบคุมลิฟต์อัจฉริยะ สัญญาณไฟจราจร ไฟถนน ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อแบบอัจฉริยะ

ไอดีซี ประเมินว่า จะได้เห็นการลงทุนด้านไอโอทีที่ใหญ่ที่สุด ในกลุ่มการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง และภาคการผลิตในปีนี้ และปีต่อไป โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของการใช้จ่ายด้านไอโอทีทั้งหมดในภูมิภาค รวมถึงภาคบริการระดับมืออาชีพที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดต่อไปนี้ในแง่ของการใช้จ่ายด้านไอโอที

อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจที่เน้นรูปแบบเฉพาะ ดังนั้นการลงทุนในระบบนิเวศน์ของไอโอทีจึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการวางแผนรวบรวมข้อมูลไบโอเมตริกซ์ วิดีโอ และข้อมูลการทำธุรกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น

จากมุมมองด้านเทคโนโลยีในปีนี้ คาดว่า การใช้จ่ายด้านไอโอทีส่วนใหญ่ จะยังคงอยู่ในหมวดบริการ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของการใช้จ่ายด้านไอโอทีโดยรวมของภูมิภาค ขณะที่ ตลาดฮาร์ดแวร์สำหรับไอโอที จะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับสองในปีนี้ โดยขับเคลื่อนด้วยความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์รวมถึงการซื้อแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่อ

ปีนี้ประเทศจีน ยังคงครองส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดในการใช้จ่ายด้าน ไอโอที คิดเป็นสัดส่วน 60% ตามมาด้วยเกาหลีใต้ และอินเดีย ประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านไอโอทีเร็วที่สุดในปีนี้ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง การถือกำเนิดของโรงงานอัจฉริยะ และอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมกับนโยบาย ไอโอที ที่นำโดยรัฐบาล ได้เร่งการนำไอโอทีไปใช้ทั่วทั้งประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก

สำหรับการใช้งานไอโอทีที่มีการใช้จ่ายสูงสุดในปี 2566 ได้แก่ กลุ่มภาคการผลิต , การบริหารจัดการสินทรัพย์ , ความยืดหยุ่นของซัพพลายเชน , ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ และการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน โดยคาดว่า กรณีการใช้งานเหล่านี้ร่วมกันจะสร้างรายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของการใช้จ่ายด้านไอโอทีโดยรวมในภูมิภาคนี้ ส่วนกรณีการใช้งานที่จะหนุนให้มีการใช้จ่ายด้านไอโอทีเติบโตเร็วที่สุดคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีที่มีความหลากหลาย เช่น ใช้ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์