คนแต่ละวัยในมิติที่แตกต่าง (จบ)

คนแต่ละวัยในมิติที่แตกต่าง (จบ)

องค์กรต้องเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานคนรุ่นใดในการทำโครงการใดโครงการหนึ่ง เพราะคนเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดขององค์กร

สังคมการทำงานยุคปัจจุบันมีความหลากหลายด้านช่วงอายุหรือเจนเนอเรชั่นที่กว้างกว่าเดิม อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้สูงอายุยังคงแข็งแรงมีความกระฉับกระเฉงจนทำงานต่อได้แม้จะล่วงเลยเข้าสู่วัย 75-85 ปีแล้วก็ตาม

หลาย ๆ องค์กรจึงอาจมีคนที่แตกต่างกันถึง 4 เจนเนเรชั่นทำงานร่วมกันซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างระหว่างวัยอาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานขึ้นได้เพราะแต่ละวัยก็ล้วนมีมุมมองความคิดที่แตกต่างกันและย่อมมีวิถีในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน

หากมีโอกาสได้สัมผัสเด็กรุ่นใหม่ซึ่งกำลังเรียนจบมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในปัจจุบันจะพบว่ากว่าครึ่งมีความสนใจงานอิสระซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นงานประจำที่ต้องเข้างาน 8 โมงเช้าเลิกงาน 5 โมงเย็นเหมือนในอดีต

เพราะในทุกวันนี้มีทางเลือกมากมายในการทำอาชีพอิสระไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์​ ปล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ​คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ฯลฯ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงจินตนาการในอดีต ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็น

ความฝันของคนในสมัยก่อนที่อยากจะมีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้เราติดต่อสื่อสารได้ง่าย ๆ สามารถใช้ค้าขายได้ ใช้จ่ายเงิน โอนเงินให้กันได้ ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มมากมายทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อาชีพใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถหลุดออกจากระบบการทำงานแบบดั้งเดิมเพราะตั้งใจจะทำอาชีพอิสระ

ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ถูกป้อนเข้าสู่องค์กรธุรกิจได้น้อยลง และมีแนวโน้มจะน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะอัตราการเกิดของคนไทยที่ลดลงทุกปีเช่นกัน

หลาย ๆ ตำแหน่งที่องค์กรธุรกิจประกาศรับสมัครจึงไม่สามารถหาคนทำงานได้ แม้จะให้เงินเดือนสูงแต่ก็ไม่มีผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมคนใดสมัครเข้ามา ซึ่งบางครั้งก็เป็นเพียงเพราะคนที่เข้าตาต้องการความอิสระหรือทำงานเป็น Work from Home มากกว่าที่จะเข้าทำงานประจำ

อย่าลืมว่าคนยุคใหม่ส่วนมากเกิดมาจากชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นและพ่อแม่ก็สนับสนุนให้ลูกได้เรียนอย่างดีที่สุด ในขณะที่สถาบันการศึกษาชั้นนำก็เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าเรียนมากขึ้น

เด็กเหล่านี้จึงมีความพร้อมมากกว่าสมัยก่อนหลายเท่า แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อดทนต่อความยากลำบากเพราะมองเห็นทางเลือกในชีวิตที่มีมากกว่าในอดีต

ในขณะที่คนรุ่นเก่าไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขาเจอนั้นเป็นความยากลำบากเพราะเขาใช้ชีวิตแบบนี้มาเป็นปกติ เพราะในยุคก่อนต้องดิ้นรนแข่งขันกันเพื่องานที่มีอยู่จำกัด และต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรเพื่อไต่เต้าขึ้นมาสู่ความสำเร็จ

เมื่อทำงานแล้วคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์และคนเจนเอ็กซ์ จึงมักทุ่มเททำงานหนักเพื่อสร้างรากฐานให้กับตัวเองในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่รู้จักสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพราะเขามองไม่เห็นว่าจะทำงานเยอะ มีเงินเก็บเยอะไปเพื่ออะไรหากไม่รู้จักใช้ชีวิต

การสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะนั่นคือ การใช้พลังจากคนทุกเจนเนอเรชั่นในองค์กรได้อย่างเต็มที่ คนทุกรุ่นจึงต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตขององค์กร และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

องค์กรธุรกิจก็ต้องยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างคนต่างวัย เปรียบเสมือนร้านอาหารบุฟเฟต์ที่เลือกได้ว่าเราอยากได้อาหารแบบใดทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ฯลฯ

องค์กรก็ต้องเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานคนรุ่นใดในการทำโครงการใดโครงการหนึ่งเพราะคนเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดขององค์กร และไม่ใช่ว่าคนบางรุ่นจะมีคุณค่ามากกว่า

แต่เป็นพลังของคนทุกรุ่นต่างหากที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้