ผ่ากลยุทธ์พัฒนา ‘คนดิจิทัล’ ฉบับ ‘หัวเว่ย’

ผ่ากลยุทธ์พัฒนา ‘คนดิจิทัล’ ฉบับ ‘หัวเว่ย’

หัวเว่ย เปิดแนวโน้มเอเชีย แปซิฟิก เร่งเปิดรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเชิงรุก หนุนแนวโน้มความต้องการบุคลากรทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังก้าวสู่การพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัล มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

ขณะที่ นานาประเทศทั่วทั้งภูมิภาค ต่างเปิดรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเชิงรุก ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการบุคลากรผู้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน ทำให้การยกระดับฝีมือแรงงาน และการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง มีความสำคัญต่อการก้าวสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต

ผลวิจัยจาก Gallup เผยว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้มีทักษะดิจิทัล โดยกว่า 76% ของตำแหน่งงานที่ว่าง ยังเป็นด้านที่เกี่ยวกับทักษะดิจิทัล ขณะที่บริษัทเกือบ 72% ต้องเผชิญความท้าทายในการเติมเต็มตำแหน่งงานเหล่านี้ ปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่จำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ยังขยายไปถึงอุตสาหกรรมสาธารณสุข อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และภาคส่วนอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

“จุน จาง” ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก กล่าวในประเด็นนี้ว่า เพื่อลดช่องว่างการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัล โปรแกรมการฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นแรงผลักดันสำคัญของหัวเว่ย ในการบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัล เพื่อให้พร้อมสำหรับความท้าทายปัจจุบัน และอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งบริษัทมีบทบาทสำคัญในการเร่งพัฒนาอีโคซิสเต็มของผู้มีทักษะดิจิทัลด้วย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยใช้กลยุทธ์ ‘PIPES Talent Model’ แผนแม่บทสำหรับการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล โดยกลยุทธ์ PIPES มาจากแนวคิดหลัก 5 ประการ คือ แพลตฟอร์ม นวัตกรรม ความเป็นมืออาชีพ ประสบการณ์ และ ทักษะ โดยโครงการนี้เป็นการพัฒนาทักษะเฉพาะบุคคลที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ หน่วยงานกำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานด้านไอซีที ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป

การเสริมศักยภาพบุคลากรผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลของหัวเว่ยนี้ ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนเพื่ออนาคต และยังช่วยเร่งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปพร้อมกัน

ปลุกแพลตฟอร์มบ่มเพาะดิจิทัล

ยกตัวอย่าง แนวคิด “แพลตฟอร์ม” หัวเว่ยจะเน้นผลักดันแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ และบ่มเพาะทักษะดิจิทัล ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย รัฐบาล และพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์ม ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง เพื่อเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลของบุคคลและชุมชนผ่านการแบ่งปันความคิดเห็นและทรัพยากรที่มีร่วมกัน

นับตั้งแต่ปี 2561 หัวเว่ยผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยกว่า 300 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฝึกอบรมนักศึกษามากกว่า 50,000 คนผ่านหลักสูตรการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ และการแข่งขันทักษะไอซีที และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการปิดฉากการแข่งขันเทคโนโลยีไอซีทีระดับภูมิภาคในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการผลักดันเวทีระดับโลกสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในการใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง

สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ โปรแกรม ‘Huawei Cloud Incubator’ ช่วยผลักดันสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีให้เข้าถึงแพลตฟอร์มคลาวด์ของหัวเว่ย และในปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวร่วมสนับสนุนสตาร์ทอัพกว่า 110 รายทั่วภูมิภาค

ในส่วน “นวัตกรรม” เน้นจัดหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เสริมทักษะและความรอบรู้ในประเด็นใหม่ๆ ในอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีผ่านโครงการ เช่น  ‘Seeds for the Future’ เสริมทักษะความรู้ความสามารถของนักศึกษามหาวิทยาลัย ผ่านการฝึกอบรมด้วยแนวคิดใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีขั้นสูง และการเข้าถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์

ผนึกสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตร

ด้าน ‘ความเป็นมืออาชีพ’ จะเน้นพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ให้พร้อมสำหรับการจ้างงานในอนาคต ผ่านการเสริมทักษะเทคโนโลยีไอซีที โปรแกรมให้คำปรึกษา การสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และการฝึกอบรมก่อนการจ้างงาน ซึ่งหัวเว่ยได้จับมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศต่างๆ พัฒนาหลักสูตรที่ได้รับการรับรองในอุตสาหกรรม 

ครอบคลุมหลักสูตรต่างๆ ทั้งการเขียนโปรแกรม โซลูชันเอไอ และ คลาวด์ มีเป้าหมายผลักดันให้บุคลากรมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ใช้หลักสูตรเหล่านี้เพื่อเพิ่มพูนทักษะและเพิ่มโอกาสในการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอนาคต

ส่วน “ประสบการณ์” หัวเว่ยพร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ให้กับบุคคลทั่วไป องค์กร และชุมชนทั่วทั้งภูมิภาค ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Business Institute ซึ่งอยู่ภายใต้ ASEAN Academy ของหัวเว่ย ที่พร้อมส่งมอบทักษะประสบการณ์ด้านบริหารจัดการองค์กร และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลแก่ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้พวกเขามองเห็นภาพใหญ่ท่ามกลางความซับซ้อนในยุคดิจิทัล

ในด้าน “ทักษะ” สถาบันด้านเทคนิคและวิศวกรรมของ ASEAN Academy ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปฏิบัติงานด้านไอซีทีด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมการรับรองทักษะไอซีทีทักษะการติดตั้งอุปกรณ์ และหลักสูตรอื่นๆ

ภายในปี 2565 ศูนย์ฝึกอบรม ASEAN Academy ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ช่วยเสริมศักยภาพทักษะไอซีทีให้ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 75,000 คน