ลงทุน ‘คลาวด์’ ในไทยสะพัด การ์ทเนอร์ คาดยอดทะลุ 5.48 หมื่นล้านบาท

ลงทุน ‘คลาวด์’ ในไทยสะพัด การ์ทเนอร์ คาดยอดทะลุ 5.48 หมื่นล้านบาท

การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะของผู้ใช้ทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 21.7% คิดเป็นมูลค่า 5.973 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 4.91 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565

ปัจจุบัน หลายๆ องค์กรกำลังปรับตัวรับมือกับการหยุดชะงักโดยนำเทคโนโลยีกำเนิดใหม่ อาทิ Generative AI, Web3 และ Metaverse มาเพิ่มศักยภาพดำเนินธุรกิจ

การ์ทเนอร์ คาดว่า องค์กรธุรกิจในประเทศไทยจะมีปริมาณการใช้จ่ายใน บริการคลาวด์สาธารณะ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 31.7% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 5.48 หมื่นล้านบาท โดยตลาดคลาวด์ทุกกลุ่มจะเติบโตในปีนี้ และบริการ Infrastructure-as-a-service (IaaS) จะเติบโตสูงสุดที่ 44.3%

ลงทุน ‘คลาวด์’ ในไทยสะพัด การ์ทเนอร์ คาดยอดทะลุ 5.48 หมื่นล้านบาท

แข่งขันสมรภูมิเดือด ‘ดิจิทัล’

ซิด ณาก รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลกำลังขับเคลื่อนคลาวด์เป็นวาระสำคัญ

โดยปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีมุมมองว่าคลาวด์คือแพลตฟอร์มกลยุทธ์ขั้นสูงสำหรับทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ต้องการผู้ให้บริการคลาวด์ที่สามารถนำเสนอความสามารถที่ซับซ้อนได้มากขึ้น อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการแข่งขันของบริการดิจิทัลที่กำลังร้อนระอุ

ตัวอย่างเช่น Generative AI ที่รองรับการใช้งานของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models หรือ LLMs) ซึ่งต้องการความสามารถในการประมวลผลที่มีศักยภาพและปรับขนาดได้อย่างสูงเพื่อประมวลผลข้อมูลเรียลไทม์

คลาวด์สามารถนำเสนอโซลูชั่นและแพลตฟอร์มได้อย่างสมบูรณ์แบบ นี่จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้เล่นหลักเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลที่เข้ามาแข่งขันกันในด้าน Generative AI

‘บริการคลาวด์’ โตทุกกลุ่ม

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า บริการ Infrastructure-As-A-Service (IaaS) มีมูลค่าการใช้จ่ายผู้ใช้ปลายทางเติบโตสูงสุดในปี 2566 ที่ 30.9% ตามมาด้วยบริการ Platform-As-A-Service (PaaS) ที่ 24.1%

ภายในปี 2569 องค์กร 75% จะนำโมเดลการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมาใช้บนคลาวด์เป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานสำคัญ

ทั้งนี้ ประสบการณ์ของลูกค้า ผลตอบรับทางดิจิทัลและธุรกิจ รวมไปถึงการก้าวไปสู่โลกเสมือนเป็นครั้งแรก จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตระยะถัดไปของบริการ IaaS ซึ่งเทคโนโลยีเกิดใหม่

อาทิ แชทบอท (Chatbots) และฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins) ช่วยให้ธุรกิจมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบเรียลไทม์กับลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และบริการแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

จุดประกาย ‘คลื่นนวัตกรรม’

โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และบริการแพลตฟอร์มเป็นปัจจัยที่กำลังขับเคลื่อนการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายสูงสุด ในขณะที่บริการ SaaS ยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของคลาวด์ คาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 17.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.97 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2566

ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลคือผู้นำในเทคโนโลยีพื้นฐานของคลาวด์คอมพิวติ้ง แต่ในระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจนั้นกลับมีผู้นำที่กระจัดกระจายต่างออกไป

โดยผู้ให้บริการคลาวด์กำลังเผชิญกับความต้องการด้านการออกแบบข้อเสนอในบริการ SaaS ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์จากความสามารถของคลาวด์เนทีฟ (Cloud Native) ปัญญาประดิษฐ์แบบฝัง (Embeded AI) และการทำงานแบบแยกส่วน (Composability)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องบประมาณเพิ่มขึ้นและมาจากนักธุรกิจเทคโนโลยี (Business Technologists) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะจุดประกายคลื่นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและแทนที่ตลาดแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันบนคลาวด์