สดช. รื้องบฯเน็ตประชารัฐ ยันต้องไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง

สดช. รื้องบฯเน็ตประชารัฐ ยันต้องไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง

รื้องบฯ เน็ตประชารัฐ 'สดช.' นำทีมชี้ ต้องไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง แนะ รื้องบจัดสรรหวังใช้งานได้จริง-เกิดผลระยะยาว

ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการขยายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศราว 44,000 หมู่บ้าน ชูด้วยเรือธง “เน็ตประชารัฐ” จำนวน 24,700 หมู่บ้าน โครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน และ โครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ชนบท 15,723 หมู่บ้านของสำนักงานกสทช.ในงบยูโซ่

แต่ก็ยังพบว่ามีหมู่บ้านอยู่ 688 หมู่บ้านที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล และใช้เพียงสัญญาณจากดาวเทียม ซึ่งความเร็วในการใช้งานอยู่ที่ 5 Mbps แต่ก็ไม่มีใครลงทุนลากสายไฟเบอร์ออปติกไปบนพื้นที่ห่างไกลนี้ได้ แม้แต่รัฐบาลเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้น “เงิน” เพราะงบประมาณที่ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงนับว่ามีจำนวนมหาศาล ดังนั้น การจัดสรรต่อจากนี้ต้องเกิดประโยชน์สูงสุด และต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของคนเพียงกลุ่มเดียว

สดช. รื้องบฯเน็ตประชารัฐ ยันต้องไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่า โครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ของรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2560 นั้น ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของสดช.โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนโครงการแต่เดิมซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดดีอีเอส มาให้ สดช.ดูแลตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 ทว่ากรมบัญชีกลางส่งเรื่องมายัง สดช.เมื่อเดือนมี.ค.2566 จากนั้นจึงเซ็นสัญญาและขออนุมัติงบประมาณกับบอร์ดเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา

ทำให้ปีนี้ สดช.ต้องรับผิดชอบโครงการเป็นระยะเวลาเพียง 7 เดือน (เม.ย.-ต.ค.2566) เนื่องจากไม่สามารถของบประมาณปี 2566 ทัน จึงได้ของบประมาณจากกองทุนดีอี จำนวนกว่า 500 ล้านบาท

แบ่งเป็นการจ่ายค่าไฟตามใบเสร็จเดือนละ 9 ล้านบาท ,จ่ายค่าแบนด์วิธ 200-300 ล้านบาท และ ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ 200 ล้านบาท ซึ่งสดช.พร้อมจ่ายในรายการค่าไฟและค่าแบนด์วิธให้เอ็นทีโดยตรง แต่ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์สดช.จะเปิดประมูลแบบอี-บิดดิ้ง เพื่อหาเอกชนที่ให้ข้อเสนอราคาต่ำสุด เพื่อสร้างความโปร่งใส ประหยัดงบประมาณ โดยเอ็นทีเองก็สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ คาดว่าจะสามารถหาผู้ชนะการประมูลและเซ็นสัญญาได้เร็วสุดเดือน พ.ค.หรือช้าสุดเดือน มิ.ย.2566

ขอพันล.ถ้าไม่ได้ต้องพึ่งยูโซ่

นอกจากนี้ สดช.ได้สำรวจการใช้งานฟรีไวไฟแต่ละจุดของหมู่บ้าน พบว่า ปัจจุบันประชาชนไม่ได้ใช้งานทั้ง 24,700 จุด มีบางหมู่บ้านที่สามารถยกระดับตนเองจนสามารถติดตั้งอินเทอร์เน็ตที่บ้านได้ ด้วยไฟเบอร์ออปติกที่โครงการวางไว้ตามถนนสายหลัก ประกอบกับมีการเปิดให้เอกชนสามารถเชื่อมต่อไฟเบอร์ของโครงการลากสายไปยังบ้านเรือนประชาชนในราคาถูกได้ ทำให้ปัจจุบันจุดให้บริการฟรีไวไฟหายไปประมาณ 600 จุด ที่ไม่มีผู้ใช้งาน ซึ่ง สดช.ก็จะทำสัญญาตามการให้บริการจริงในแต่ละปี โดยจะมีการสำรวจในทุกปีด้วย

สำหรับปีงบประมาณ 2567 อาจต้องทำเรื่องของบประมาณจากสำนักงบประมาณปีละ 900 ล้านบาท แต่หากไม่ได้ก็ได้ทำเรื่องของบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุนยูโซ่ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไว้แล้วตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

ยันที่ผ่านมาถูกรัฐลอยแพ

นายภุชพงค์ กล่าวว่า ทั้งกสทช.และดีอีเอส ต่างมีกองทุนที่ใช้งบประมาณและวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการหารือร่วมกับคณะกรรมการกสทช.ถึงการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้อนุมัติงบประมาณซ้ำซ้อน โดยกองทุนดีอีจะทำหน้าที่ให้งบประมาณเกี่ยวกับนวัตกรรม หรือ แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อให้เกิดบริการดิจิทัล ขณะที่กสทช.เองจะทำหน้าที่อนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งโครงการเน็ตประชารัฐ ตรงกับวัตถุประสงค์ของกสทช.

“ที่ผ่านมา 5 ปี เอ็นทีทำโครงการเน็ตประชารัฐให้ดีอีเอส ไม่เคยได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆแต่อย่างใด จากสำนักงานปลัด เนื่องจากไม่มีงบประมาณและครม.เพิ่งอนุมัติให้ทยอยจ่ายย้อนหลังปีละ 1,000 ล้านบาท แต่เมื่อมาอยู่ภายใต้การดูแลของสดช.งบประมาณต้องน้อยลงตามค่าความเสื่อมของอุปกรณ์ และจำนวนจุดให้บริการที่ลดน้อยลง”

ชี้อนาคตเป็นหน้าท้องถิ่น

ภุชพงค์ กล่าวว่า ในระยะยาว เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ประชาชนเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เองมากขึ้น โครงการเน็ตประชารัฐอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณจากภาครัฐอีกต่อไป เพราะจำนวนการใช้ฟรีไวไฟจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลาและอายุของอุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนทุก 5 ปี รวมถึงจุดให้บริการฟรีไวไฟก็อาจจะมีปัญหาต้องปิดสถานที่เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ดังนั้นในระยะยาวจำเป็นต้องให้เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในการดูแลกันเอง เพราะเขาจะรู้ความต้องการของชุมชนว่าต้องการฟรีไวไฟที่ไหนบ้าง และเนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นบริการขั้นพื้นฐานเหมือนประปา ไฟฟ้า

นอกจาก โครงการเน็ตประชารัฐที่สดช.ทำเรื่องของบประมาณกับกองทุนยูโซ่ ของกสทช.แล้ว สดช.ยังของบประมาณการดูแลอินเทอร์เน็ตฟรีตามโรงพยาบาล , รพสต. ซึ่งเป็นโครงการของรัฐอีกกว่า 1,000 จุด รวมถึงโครงการติดตั้งฟรีไวไฟตามชุดชนแออัดที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ และ โครงการแจกแท็บเล็ต 1 ล้านเครื่องให้กับนักเรียน อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย

โดยโครงการแจกแท็บเล็ตเกิดจากเห็นความลำบากของนักเรียนในช่วงโควิดที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เรียนหนังสือออนไลน์ แต่เมื่อโควิดคลี่คลายโครงการนี้อาจจะเปลี่ยนรูปแบบมอบให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปจัดสรรให้เหมาะสมยังสถาบันการศึกษาต่างๆแทน