ชีวิตที่สอง

ชีวิตที่สอง

คุณค่าของชีวิตจึงไม่ได้มีความหมายอยู่แค่ชีวิตเพียงชีวิตเดียวที่เรารู้จัก แต่อาจมีอีกหนึ่งชีวิตซ่อนตัวอยู่รอให้เราค้นหาและดึงเอาความสามารถนั้นออกมา

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาแล้วในทุกยุคทุกสมัย อาจเป็นเพราะมุมมองที่แตกต่างกันของคนแต่ละวัยทำให้มีแนวคิดและวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน กลายเป็นความไม่เข้าใจกันและต่อต้านความคิดของกันและกันในที่สุด

เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาถึง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะคนแต่ละวัยต่างมีช่องทางในการสื่อสารที่เป็นของตัวเอง 

โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ซึ่งลดการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตาลงมาก โอกาสในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันรวมถึงการปรับตัวเข้าหากันจึงแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ผลที่เกิดขึ้นคือความไม่เข้าใจกันอย่างรุนแรง คนรุ่นใหม่ก็ไม่เห็นคุณค่าของการทำงานหนักของคนรุ่นก่อน เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ในขณะที่คนรุ่นก่อนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงรักความสบาย ทำงานไม่อดทน ไม่ขยันเหมือนรุ่นตัวเอง

โดยเฉพาะค่านิยม “Slow Life” ที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตได้นำมาสู่การใช้ชีวิตแบบสบายๆ หรือ Soft Living ในวันนี้ซึ่งเราจะเห็นได้จากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกัน

เช่น การใช้ชีวิตแบบไม่ผูกพันไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือการทำงานที่ไม่ยึดติดกับอะไร ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าที่หากลงหลักปักฐานทำงานที่ใดแล้วก็มักจะทำงานต่อเนื่องไปจนเกษียณอายุ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับองค์กรที่ทำ รวมไปถึงสาขาอาชีพที่พร้อมจะเปลี่ยนไปทำสายงานอื่นได้เสมอ

นอกจากนั้นก็มีค่านิยมในการ “Early Retire” หรือการเกษียณอายุตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ซึ่งหลายคนอาจสะสมทรัพย์สินและเงินทองได้มากพอที่คิดว่าจะใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ แต่อาจหลงลืมไปว่าอายุขัยของคนในยุคปัจจุบันนั้นยาวนานกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เราหลายเท่า หากชิงเกษียณอายุตั้งแต่ 40 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี นั่นหมายถึงเขาต้องดูแลตัวเองต่อไปถึงอีกครึ่งชีวิตเลยทีเดียว

และยังมีประเด็นของความไม่ไว้วางใจเพราะเจ้าของกิจการรุ่นเก่าจำนวนมากก็ยังไม่ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมารับผิดชอบเพราะมักคิดเองว่าคนรุ่นใหม่รักสบาย ไม่อดทน ไม่มีความผูกพันต่อองค์กร ฯลฯ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โอกาสได้แสดงฝีมือ และไม่พอใจที่คนรุ่นเก่าก็ไม่ยอมลงจากตำแหน่งเสียที

ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของทุกองค์กรและจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ อีกทางหนึ่งทำให้องค์กรขาดพลังที่จะเดินไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ๆ เพราะไม่รู้จักใช้พลังของคนรุ่นใหม่

หากเราเข้าใจแนวคิดของเขาที่อยาก Early Retire ซึ่งคนรุ่นใหม่หลายคนอาจเบื่อหน่ายงานแบบเดิมจึงอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตเราก็อาจเสนอ “Second Life” ให้เขาเลือกมีชีวิตในหน้าที่การงานใหม่ได้แทนที่จะปล่อยให้เขาเกษียณอายุไปนอนอยู่กับบ้านอย่างไม่มีคุณค่า

เพราะการเปิดโอกาสให้มี Second Life คือการเปลี่ยนชีวิตไปสู่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยทำมา แต่เป็นเส้นทางที่อยากลองและมีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำ ซึ่งเขาอาจทำได้ดีกว่าที่เคยทำมาทั้งชีวิตก็เป็นไปได้

แนวคิดเช่นนี้ยังสามารถใช้กับคนรุ่นเก่าที่ลงจากตำแหน่งแต่ยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคมก็สามารถเอาความสามารถของตัวเองไปต่อยอดเป็นหน้าที่การงานใหม่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักพูดให้กำลังใจ หรือเป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ

ผู้ใหญ่หลายคนที่ปล่อยวางตัวเองจากตำแหน่ง เมื่อมีเวลาว่างก็หันมาทำสิ่งที่ตัวเองรัก เช่นวาดภาพก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่แพ้ศิลปินชื่อดัง กลายเป็น Second Life หรือชีวิตที่สองที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้อีก

คุณค่าของชีวิตจึงไม่ได้มีความหมายอยู่แค่ชีวิตเพียงชีวิตเดียวที่เรารู้จัก แต่อาจมีอีกหนึ่งชีวิตซ่อนตัวอยู่รอให้เราค้นหาและดึงเอาความสามารถนั้นออกมา ทำให้เรามีอีกหนึ่งชีวิตที่ยังสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้แม้จะมีอายุพ้นวัยเกษียณไปแล้วก็ตาม