เที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย เจาะลึกค่า "IPX" คืออะไร แค่ไหนถึงกันน้ำได้จริง

เที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย เจาะลึกค่า "IPX" คืออะไร แค่ไหนถึงกันน้ำได้จริง

ถ้ายังไม่อ่านเรื่องนี้อย่าเพิ่งเที่ยวสงกรานต์ หากยังอยากให้มือถือหรือ Gadget ที่คุณรักอยู่รอดปลอดภัย ไม่พังไปกับเทศกาลสาดน้ำ เพราะตัวชี้ขาดคือค่า IPX ที่หลายคนเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงใช้ได้จริง

ไม่ว่าจะเล่นน้ำสงกรานต์หรือใช้งานตามปกติ ความเสี่ยงที่สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต หรือ Gadget อื่นๆ จะเปียกน้ำย่อมมีเสมอ ถึงแม้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคนี้จะอัพเวลขึ้นมาให้แกร่งและกันน้ำกว่าแต่ก่อน แต่ก็ใช่ว่าทุกรุ่นทุกแบรนด์จะถึกทนเท่ากัน

เพื่อให้ เทศกาลสงกรานต์ นี้ไปจนถึงการใช้งานในชีวิตประจำวันต่อไปไม่ต้องสุ่มเสี่ยงว่าดีไวซ์ของคุณจะพังเพราะไม่กันน้ำ KT Review กรุงเทพธุรกิจไอทีจะพาไปรู้จักสิ่งที่เรียกว่า IPX ตัวกำหนดว่าสมาร์ทดีไวซ์ในมือคุณเอาอยู่แค่ไหนกับการกันน้ำ ดีกว่าไปลองเปียกแล้วพังจนต้องเสียใจทีหลัง

เที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย เจาะลึกค่า \"IPX\" คืออะไร แค่ไหนถึงกันน้ำได้จริง

IPX คืออะไร?

IPX (Ingress Protection Marking) หรือ IPX Rating คือมาตรฐานความสามารถการป้องกันฝุ่นละอองและน้ำของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปกติค่า IPX จะประกอบด้วยตัวอักษร IP ตามด้วยเลขสองตัว เช่น IP67, IP68 เป็นต้น

ซึ่งตัวเลขหลักที่หนึ่ง คือ ความสามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมประเภทของแข็ง มีเลข 0-6 บอกระดับความสามารถนี้

ส่วนตัวเลขหลักที่สอง คือ ความสามารถป้องกันของเหลว มีตั้งแต่ 0-8

ในประเภทของแข็ง เรียงลำดับเลเวลการป้องกันได้ดังนี้

  • 0 ไม่มีการป้องกัน
  • 1 ป้องกันสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่กว่า 50 mm. ขึ้นไป
  • 2 ป้องกันสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่กว่า 12.5 mm. ขึ้นไป
  • 3 ป้องกันสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่กว่า 2.5 mm. ขึ้นไป
  • 4 ป้องกันสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่กว่า 1.0 mm. ขึ้นไป
  • 5 ป้องกันฝุ่นได้ แต่มีโอกาสที่ฝุ่นขนาดเล็กจะหลุดเข้าไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์
  • 6 ป้องกันฝุ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์

เที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย เจาะลึกค่า \"IPX\" คืออะไร แค่ไหนถึงกันน้ำได้จริง

มาถึงประเภทของเหลว ตัวเลขจะบ่งบอกถึงการป้องกันดังนี้

  • 0 ไม่มีการป้องกัน
  • 1 ป้องกันหยดน้ำที่ตกกระทบในแนวตั้ง
  • 2 ป้องกันหยดน้ำในแนวเฉียงที่ทำมุมไม่เกิน 15 องศา
  • 3 ป้องกันหยดน้ำที่ถูกพ่นสเปรย์
  • 4 ป้องกันน้ำกระเซ็นเข้าที่ตัวอุปกรณ์
  • 5 ป้องกันน้ำที่ถูกฉีดเข้าตัวอุปกรณ์ได้ทุกทิศทาง
  • 6 ป้องกันน้ำที่ถูกฉีดด้วยความแรงเข้าตัวอุปกรณ์ได้ทุกทิศทาง
  • 7 ป้องกันน้ำเข้า กรณีอุปกรณ์จุ่มน้ำไม่เกิน 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที
  • 8 ป้องกันน้ำเข้า กรณีอุปกรณ์จุ่มน้ำน้ำลึกเกิน 1 เมตร แต่ไม่เกิน 3 เมตร เป็นเวลานาน ซึ่งตรงนี้อาจจะมากขึ้นกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละรายด้วย

สมาร์ทโฟนเรือธงส่วนมากกันน้ำแค่ไหน

สำหรับสาวก iPhone คงสบายใจได้ เพราะทั้งไลน์อัพของ iPhone รุ่นล่าสุดอย่าง iPhone 14 Series มีมาตฐาน "IPX" ในระดับที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับการเปียกน้ำ อย่าง iPhone 14 Pro, iPhone 14 Plus, iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max อยู่ที่ระดับ IP68 (ความลึกไม่เกิน 6 เมตร ภายในระยะเวลาสูงสุด 30 นาที) ตามมาตรฐาน IEC 60529

ส่วน Samsung Galaxy S23 Ultra ก็มีค่า IPX อยู่ที่ IP68 เช่นกัน เรียกได้ว่ากันน้ำกันฝุ่นขั้นสุด

แต่ใช่ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นแพงๆ จะกันน้ำกันฝุ่นแบบจัดเต็มกันทุกรุ่น เพราะในบางเซกเมนต์ เช่น สมาร์ทโฟนจอพับได้ ก็ยังมีบางรุ่นที่ไม่ได้กำหนดค่า IPX มาให้ เนื่องจากรูปแบบของการดีไซน์และรอยต่อต่างๆ ที่อาจเป็นจุดที่น้ำและฝุ่นเข้าไปได้ อาทิ OPPO Find N2 Flip สมาร์ทโฟนจอพับที่ดีทุกประการ ให้ประสบการณ์การใช้งานที่น่าประทับใจมาก แต่กลับมีจุดสังเกตเดียวคือเรื่องไม่กำหนด IPX มา แปลว่าไม่ควรเสี่ยงทั้งฝุ่นและน้ำ

เที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย เจาะลึกค่า \"IPX\" คืออะไร แค่ไหนถึงกันน้ำได้จริง

ถึงจะมีค่า IPX แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่น

ค่า "IPX" อาจเป็นมาตรฐานที่วางไว้ และผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็พยายามคิดค้นเทคโนโลยีการป้องกันไม่ว่าจะเป็นการซีลส่วนและรอยต่อต่างๆ เพื่อให้สมาร์ทดีไวซ์ของตัวเองได้มาตรฐานสูงที่สุด แต่ในการใช้งาน หากไม่นับความผิดพลาดจากการผลิตซึ่งอาจจะมีแต่คงน้อยมากถึงมากที่สุด ยังมีบางเรื่องเป็นปัจจัยทำให้ค่า IPX ของอุปกรณ์ลดลง

อย่างแรกๆ ที่เกิดขึ้นได้ คือความเสียหายจากการใช้งานหรืออุบัติเหตุ เช่น การทำหล่น การกระแทก จนเกิดรอยแตกร้าว รอยบิ่น ถึงแม้ผู้ผลิตจะซีลส่วนสำคัญไว้อย่างดีแล้ว แต่ถ้าหากเกิดช่องโหว่จากจุดอื่น ก็เป็นไปได้ว่าจะมีฝุ่นหรือน้ำเข้าไปในอุปกรณ์ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของความเสียหายด้วยนั่นเอง

ปัจจัยต่อมาคือความเสื่อมสภาพ ข้อนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ชิ้นใหม่ที่มีอายุการใช้งานไม่นานมากนัก แต่มักจะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ที่ใช้มาอย่างยาวนาน เพราะนอกจากความเสียหายจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีตัวกระตุ้นให้ชิ้นส่วนต่างๆ เสื่อมสภาพด้วย เช่น ความร้อน

อุณหภูมิในประเทศไทยจัดว่าร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้งานปกติในอุณหภูมิปกติของประเทศไทยจะเร่งให้อุปกรณ์พังง่ายกว่าปกติ เพราะขึ้นอยู่กับการใช้งานด้วยต่างหาก อย่างการทิ้งสมาร์ทโฟนไว้ในรถที่จอดตากแดด อุณหภูมิในรถที่จะพุ่งสูงอีกประมาณเท่าตัว เช่น อุณหภูมิภายนอก 35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในรถอาจจะสูงถึง 60 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว นั่นเท่ากับว่าสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราลืมทิ้งไว้ จะถูกอบด้วยความร้อนสูง และวัสดุประเภทยางและพลาสติกซึ่งมักจจะเป็นวัสดุในตัวเครื่องรวมถึงวัสดุสำหรับซีลป้องกันฝุ่นและน้ำก็จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

มาถึงข้อสุดท้ายที่อยากฝากไว้ ปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนคิดว่าคงไม่ใช่ปัญหาของอุปกรณ์ที่มีค่า "IPX" ที่เป็นการกันน้ำ คือ ประเภทน้ำ โดยปกติค่า IPX จะกำหนดไว้โดยอ้างอิงน้ำจืดเป็นหลัก แต่ถ้าซัมเมอร์แบบนี้ร่างกายต้องทะเลนี่คือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

การที่สมาร์ทโฟนหรือดีไวซ์โดนน้ำทะเลหรือถึงขั้นตกลงไปในทะเล (ที่ไม่ลึก) ไม่ได้อุปกรณ์ที่มีค่า IPX สูงๆ เสียหาย และยังใช้งานได้ต่อ แต่ความเค็มของน้ำทะเลจะทำให้เกิดคราบเกลือ ซึ่งจะอุดตันจุดต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้เมื่ออุปกรณ์โดนน้ำทะเล ควรล้างน้ำจืดทันที หรือจะให้ดีควรล้างและแช่น้ำจืดทิ้งไว้สัก 5-10 นาที เพื่อให้ความเค็มเจือจางออกมากับน้ำจืดได้มากที่สุด ก่อนที่จะนำมาเช็ดให้แห้ง โดยไม่จำเป็นต้องไปแช่ในถังข้าวสาร เพราะฝุ่นจากข้าวสารอาจเข้าไปติดค้างในจุดต่างๆ แทน